"พาวเวลล์" เชื่อมั่นเศรษฐกิจสหรัฐแข็งแรง ยันไม่รีบปรับลดดอกเบี้ย

04 เม.ย. 2567 | 11:39 น.
อัปเดตล่าสุด :04 เม.ย. 2567 | 12:04 น.

“เจอโรม พาวเวลล์” ประธานเฟด กล่าวแสดงความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจสหรัฐ และการใช้นโยบายการเงินของเฟด ซึ่งย้ำว่า ไม่ได้เร่งรีบในการผ่อนคลายนโยบายการเงิน ไม่รีบปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จนกว่าจะมั่นใจว่า เงินเฟ้อกำลังปรับตัวลงสู่ระดับ 2% อย่างยั่งยืน

นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวปาฐกถาที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดวานนี้ (3 เม.ย.) เนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่า เฟดกำลังใช้เครื่องมือที่มีอยู่ ในการทำให้ เงินเฟ้อ ปรับตัวลงสู่ระดับ 2% ซึ่งเป็นระดับเป้าหมาย ขณะที่พยายามรักษาความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจสหรัฐเอาไว้ด้วยเช่นกัน เขาย้ำว่า เฟดไม่ได้เร่งรีบในการผ่อนคลายนโยบายการเงิน

"เราไม่ได้คาดหวังว่าเป็นเรื่องเหมาะสมที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จนกว่าเราจะมีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่าเงินเฟ้อกำลังปรับตัวลงสู่ระดับ 2% อย่างยั่งยืน"

นอกจากนี้ ยังกล่าวว่า เมื่อพิจารณาถึงความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจและความคืบหน้าเกี่ยวกับเงินเฟ้อจนถึงขณะนี้ เฟดจะใช้ข้อมูลปัจจุบัน เป็นปัจจัยชี้นำหลักในการตัดสินใจด้านนโยบาย

"ตัวเลขการจ้างงานและเงินเฟ้อในระยะนี้ ต่างก็อยู่สูงกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้ แต่ข้อมูลดังกล่าวไม่ได้เปลี่ยนแปลงภาพรวมอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งยังคงบ่งชี้การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ตลาดแรงงานที่มีการปรับสมดุล ขณะที่เงินเฟ้อกำลังปรับตัวลงสู่ระดับ 2% แม้บางครั้งอาจไม่ต่อเนื่อง" นายพาวเวลล์กล่าว

ถ้อยแถลงของประธานเฟดวานนี้(3 เม.ย.) สอดคล้องกับสิ่งที่เขากล่าวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (29 มี.ค.) ซึ่งเขาได้แสดงความเห็นเอาไว้ หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ว่า ถึงแม้ดัชนี PCE จะสอดคล้องกับที่เฟดคาดการณ์เอาไว้ แต่เฟดก็จะไม่รีบปรับลดอัตราดอกเบี้ย ขณะที่เศรษฐกิจมีการขยายตัวที่แข็งแกร่ง และเงินเฟ้ออยู่สูงกว่าเป้าหมายของเฟด

"เราจำเป็นต้องเห็นความคืบหน้ามากขึ้นกว่านี้เกี่ยวกับเงินเฟ้อ ก่อนที่จะทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมา  เนื่องจากการตัดสินใจเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ย ถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก ทำให้เฟดต้องใช้ความระมัดระวังในเรื่องนี้"

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 5.25-5.50% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 23 ปี แต่ก็ได้ส่งสัญญาณว่า เฟดอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2567 นี้ โดยจะปรับลดครั้งละ 0.25% รวม 0.75%

ไทม์ไลน์การขึ้นและคงอัตราดอกเบี้ยของเฟด 

ตั้งแต่ปี 2565 จนถึงปัจจุบัน (มีการขึ้นดอกเบี้ย 11 ครั้ง ตั้งแต่ มี.ค.2565)

การดำเนินการด้านอัตราดอกเบี้ยของเฟดในปี 2565 

  • วันที่ 25-26 ม.ค.     คงดอกเบี้ยที่ระดับ 0.00-0.25%
  • วันที่ 15-16 มี.ค.     ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่ 0.25-0.50%
  • วันที่ 3-4 พ.ค.        ขึ้นดอกเบี้ย 0.50% สู่ 0.75-1.00%
  • วันที่ 14-15 มิ.ย.     ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% สู่ 1.50-1.75%
  • วันที่ 26-27 ก.ค.     ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% สู่ 2.25-2.50%
  • วันที่ 20-21 ก.ย.     ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% สู่ 3.00-3.25%
  • วันที่ 1-2 พ.ย.        ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% สู่ 3.75-4.00%
  • วันที่ 13-14 ธ.ค.     ขึ้นดอกเบี้ย 0.50% สู่ 4.25-4.50%

การดำเนินการด้านอัตราดอกเบี้ยของเฟดในปี 2566 

  • วันที่ 31 ม.ค.-1 ก.พ. ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่ 4.50-4.75%
  • วันที่ 21-22 มี.ค.      ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่ 4.75-5.00%
  • วันที่ 2-3 พ.ค.         ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่ 5.00-5.25%
  • วันที่ 13-14 มิ.ย.     คงดอกเบี้ยที่ระดับ 5.00-5.25%
  • วันที่ 25- 26 ก.ค.    ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่ 5.25-5.50%
  • วันที่ 19- 20 ก.ย.    คงดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50%
  • วันที่ 31 ต.ค.-1 พ.ย. คงดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50%
  • วันที่ 12-13 ธ.ค. คงดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50%

การดำเนินการด้านอัตราดอกเบี้ยของเฟดในปี 2567

  • วันที่ 31 ม.ค. คงดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50%
  • วันที่ 19-20 มี.ค. คงดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50%