ไทยอ่วม จ่าย DCC Fee บัตรเครดิต สูงกว่าเกาหลี 4 เท่า

15 มี.ค. 2567 | 14:23 น.
อัปเดตล่าสุด :15 มี.ค. 2567 | 14:23 น.
3.7 k

ธปท.เร่งหารือผู้ที่เกี่ยวข้อง DCC Fee 1% คาดสรุปภายใน 2สัปดาห์ ก่อนมีผลบังคับ 1 พ.ย.67 วงในเผยธนาคารผู้ออกบัตรและรับบัตรของไทยเสียเปรียบ แบกต้นทุนค่าธรรมเนียม “วีซ่า-มาสเตอร์” สูงกว่าเกาหลี 4 เท่าทั้งที่ธุรกรรมเกาหลีมากกว่าไทย 10 เท่า

ระหว่างรอผลหารือระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)กับสถาบันการเงิน,วีซ่า และมาสเตอร์การ์ด ในประเด็นการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการแปลงสกุลเงินต่างประเทศเป็นสกุลเงินบาท หรือ Dynamic 
Currency Conversion Fee: DCC Fee) ในอัตรา 1% ที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2567 นั้น 

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.จะมีการหารือกับผู้ให้บริการและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดไม่ใช่เฉพาะธนาคารพาณิชย์ โดยน่าจะได้คำตอบภายในสัปดาห์นี้และสัปดาห์หน้า ก่อนที่จะมีผลในวันที่ 1 พฤษภาคม ที่มีการประกาศไป โดยธปท.จะรวบรวมข้อมูลที่ได้รับจากผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด เช่น ต้นทุนที่แท้จริงของการเรียกเก็บมีอะไรบ้าง จากนั้นจะนำข้อมูลเหล่านั้น มาประมวลเพื่อพิจารณาเชิงนโยบายอีกที 

ไทยอ่วม จ่าย DCC Fee บัตรเครดิต สูงกว่าเกาหลี 4 เท่า

ทั้งนี้ธปท.จะรวบรวมข้อมูลที่ได้รับจากผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด เช่น ต้นทุนที่แท้จริงของการเรียกเก็บมีอะไรบ้าง จากนั้นจะนำข้อมูลเหล่านั้น มาประมวลเพื่อพิจารณาเชิงนโยบายอีกที 

“หลักการพื้นฐาน ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องตอบให้ได้เรื่องต้นทุนที่เหมาะสมและเป็นธรรมกับผู้บริโภค เพราะฉะนั้นธปท.ขอข้อมูลเพื่อจะมาตอบโจทย์ตรงนี้ให้ได้ก่อน คือ ค่าธรรมเนียม ต้นทุนต่างๆ ต้องสะท้อนให้เหมาะสม และเป็นธรรมกับผู้บริโภค”นายรณดลกล่าว 

ไทยอ่วม จ่าย DCC Fee บัตรเครดิต สูงกว่าเกาหลี 4 เท่า

แหล่งข่าวเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงการเรียกเก็บค่า DCC Fee ในอัตรา 1%ว่า ธนาคารพาณิชย์ไทยเรียกเก็บจากผู้บริโภคแล้วส่งให้เป็นค่าธรรมเนียมของวีซ่า หรือมาสเตอร์การ์ดทั้งจำนวน โดยเฉพาะธนาคารที่มีสัดส่วนธุรกรรมค่อนข้างมาก หากคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ไม่สามารถแบกภาระได้จึงผลักให้ผู้บริโภค แต่กรณีบางสถาบันที่ไม่เรียกเก็บ DCC Fee นั้น อาจจะมีสัดส่วนธุรกรมไม่มากและสามารถบริหารจัดการได้ เพราะหากบริหารดีก็อาจจะยังมีกำไร 

ทั้งนี้ การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการแปลงสกุลเงินต่างประเทศและเงินบาทนั้น ผู้ใช้บัตรเครดิตจะโดนสองเด้ง เพราะทางวีซ่า/มาสเตอร์การ์ด จะคิดค่าธรรมเนียมไขว้ 2 สกุลเงินในการแปลงอัตราแลกเปลี่ยน 
ซึ่งขารับและขาจ่าย อัตราแลกเปลี่ยนจะไม่เท่ากัน 

“ต้องยอมรับว่า เวลาเอาบัตรเครดิตไปรูดนั้น ต้นทุนในการแปลงสกุลเงิน มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหลายขั้น คือ กรณีรูดบัตรจะเก็บจากร้านค้า ทั้งธนาคารที่เป็นธนาคารผู้รับบัตร( Acquirer Bank) ทั้งวีซ่าที่เป็น Switching และเก็บจากธนาคารเจ้าของบัตร ซึ่งเงินตรงนั้น ก็จะแบ่งจ่ายเครือข่ายบัตร แต่พอแบ่งเสร็จแล้ว จะมีเงื่อนไขกับทางวีซ่า/มาสเตอร์การ์ด ที่เก็บคืนจากธนาคารเจ้าของบัตรอีก ซึ่งธนาคารเจ้าของบัตรใช้วิธีส่งต่อให้กับผู้บริโภค” แหล่งข่าวกล่าว 

สำหรับการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมของวีซ่า /มาสเตอร์การ์ดนั้น ไม่ใช่เฉพาะเรื่อง Dcc Fee หากอยู่ในระบบ จะเห็นว่าประเทศไทยเสียเปรียบในการให้บริการค่อนข้างมาก เพราะทั้งกรณีการนำบัตรในประเทศออกไปใช้ และกรณีนำบัตรที่ออกจากต่างประเทศเข้ามาใช้ในไทย ธนาคารผู้รับบัตรหรือผู้บริหารจัดการ (เจ้าของตู้เอทีเอ็มและธนาคารเจ้าของบัตรในไทยกลับต้องจ่ายค่าธรรมเนียมกับวีซ่า/มาสเตอร์การ์ด จึงเป็นเรื่องยาก ตราบใดที่ไม่มีทางเลือกให้ผู้บริโภค 

อย่างไรก็ตาม ในทางปฎิบัติตอนนี้ ธุรกรรมต่างๆเป็นออนไลน์หมดแล้วและครอบคลุมกว่า ส่วนตัวมองว่า โลกควรจะออกจากระบบแบบนี้ได้แล้ว กรณีในประเทศเรา แก้ปัญหาด้วยการใช้อีวอลเลต แต่การแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งถ้าหากจะเกิดขึ้นได้ เมื่อไรก็จะทะลายค่าธรรมเนียมจากวีซ่า และมาสเตอร์การ์ด แต่ปัจจุบันไทยมีอำนาจต่อรองที่เล็กมาก โดยไทยเป็นประเทศที่จ่ายค่าธรรมเนียมให้วีซ่า/มาสเตอร์การ์ดมากกว่าเกาหลีประมาณ 4 เท่า ทั้งๆ ที่ปริมาณธุรกรรมเกาหลีมากกว่าไทยเป็น 10 เท่า  

ต่อข้อถามว่าจะมีทางออกหรือไม่ เพราะนโยบายของธปท.มุ่งเน้นเรื่องความเป็นธรรมกับผู้บริโภค แหล่งข่าวระบุว่า ต้องขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของทางการไทยและลดผลประโยชน์ส่วนบุคคล เช่น การโปรโมทคนไทยไปใช้บริการอื่น หรือถ้าผลักดัน “บริการพร้อมเพย์” ให้ต่างชาติเข้ามาใช้งานในไทยได้และทำ “Local Switching” ให้คนไทยออกไปใช้ต่างประเทศไทย นอกจากทำให้การใช้เงินในประเทศคล่องขึ้น ก็จะตัดรายได้ค่ายวีซ่า/มาสเตอร์การ์ออก ส่วนใหญ่ราว 80-90% หากจะทำได้จริง ธปท.ต้องออกกฎ Local Rule อย่างเดียว ยกตัวอย่าง นักท่องเที่ยวจีนจะใช้ยูเนียนเพย์ในการชำระค่าสินค้าและบริการ  

แหล่งข่าวอีกรายกล่าวว่า การเรียกเก็บ DCC Fee นั้น ปัจจุบันแต่ละธนาคารจะมีทางเลือกให้ลูกค้า โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมให้วีซ่า/มาสเตอร์ การ์ด โดยใช้บัตรเดบิตแทนบัตรเครดิตได้ เป็นวอลเลต ในสกุลเงินบาท เพราะสามารถนำเงินเข้าบัญชีและใช้บัตรนี้ได้ทั่วโลกโดยไม่มีค่า Dcc Fee 1% 

สำหรับการคิดค่าความเสี่ยงในการแปลงสกุลเงิน (FX Fee) ไม่เกินอัตรา 2.5%จากยอดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นนั้น ธนาคารเรียกเก็บจากร้านค้า ซึ่งมีรายได้ส่วนต่างจากร้านค้า แต่ไม่คิดจากผู้บริโภค หลักการถ้าธนาคารได้ค่าธรรมเนียมจากร้านค้าแล้ว ก็ได้รับค่าความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องมากินจากผู้บริโภค ขณะที่ ทางวีซ่ากับมาสเตอร์การ์ดรับประโยชน์จากตรงนี้อยู่แล้ว

 

หน้า  13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,975 วันที่ 17 - 20 มีนาคม พ.ศ. 2567