แบงก์เก็บค่าธรรมเนียม 1% รูดบัตรออนไลน์ต่างชาติ

06 มี.ค. 2567 | 17:35 น.
อัปเดตล่าสุด :06 มี.ค. 2567 | 17:35 น.
4.8 k

แบงก์แจงเหตุดีเดย์ 1 พ.ค.67 เก็บค่าธรรมเนียม 1% ค่าความเสี่ยงแลกเงิน ตามนโยบายวีซ่า/มาสเตอร์การ์ด หลังแบกรับมานาน แถมลูกค้าหันไปซื้อของออนไลน์แพลตฟอร์มต่างประเทศมากขึ้น ซุปเปอร์ริชสีส้มแนะใช้ทราเวลการ์ดพร้อมพกเงินสดแทน

ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 รายการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตวีซ่า/มาสเตอร์การ์ด เพื่อชำระค่าสินค้า หรือบริการด้วยสกุลเงินบาท ณ ร้านค้าในต่างประเทศ ร้านค้าออนไลน์ที่จดทะเบียนในต่างประเทศ และการกดเงินสดที่เลือกเป็นสกุลเงินบาทผ่านตู้ ATM ในต่างประเทศ จะถูกเรียกเก็บ “ค่าธรรมเนียมการแปลงสกุลเงินต่างประเทศเป็นสกุลเงินบาท” ในอัตรา 1% ของยอดใช้จ่ายและยอดกดเงินสดในสกุลเงินบาทหรือที่เรียกว่า ค่าธรรมเนียมการแปลงสกุลเงินต่างประเทศเป็นสกุลเงินบาท (DCC Fee

ร้านค้าออนไลน์ที่คนไทยรู้จักเป็นอย่างดีคือ NETFLIX, APPLE, TikTok, AGODA, Booking, ALIPAY, PAYPAL, FACEBOOK, GOOGLE, AIRBNB, EXPEDIA, EBAY, SPOTIFY, ALIBABA, VIU, AMAZON

แบงก์เก็บค่าธรรมเนียม 1% รูดบัตรออนไลน์ต่างชาติ

นอกจาก ค่าธรรมเนียม DCC Fee ที่ลูกค้าผู้ใช้บัตรเครดิตจะต้องเสียเพิ่ม 1% แล้วลูกค้ายังมีค่าธรรมเนียมค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงิน (FX Rate) เมื่อใช้บัตรเครดิตรูดใช้จ่ายในต่างประเทศ ซึ่งธนาคารส่วนใหญ่จะคิดในอัตรา 2-2.5% ของยอดใช้จ่าย

นายปิยะ ตันติเวชยานนท์ ประธานกรรมการ บริษัท ซุปเปอร์ริช เคอเรนซี่ เอ็กซ์เชนจ์ (1965)หรือ “ซุปเปอร์ริชสีส้ม ”เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวตามนโยบายของวีซ่าและมาสเตอร์การ์ด ซึ่งกำหนดค่าชาร์จชัดเจนที่ 1%ของมูลค่าการซื้อสินค้าหรือบริการที่เป็นสกุลเงินบาท แต่ที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ชาร์จร้านค้า 2.5% ซึ่งส่วนหนึ่งไปที่วีซ่า/มาสเตอร์การ์ด อีกส่วนก็จะมาที่ธนาคารพาณิชย์

นายปิยะ ตันติเวชยานนท์ ประธานกรรมการ บริษัท ซุปเปอร์ริช เคอเรนซี่ เอ็กซ์เชนจ์ (1965)

ทั้งนี้ประมาณกลางปี บริษัทฯจะให้บริการ อี วอลเลตอย่างเป็นทางการเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนทดลองให้บริการภายใน ซึ่งหลักการบริการ “อี วอลเลต” นั้นเพื่อสร้างความสะดวกให้กับลูกค้าชาวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ซึ่ง “อี วอลเลต” ของซุปเปอร์ริชสีสัมจะเป็นลักษณะบริการกึ่งโมบายแบงก์กิ้ง

ดังนั้นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ไม่มีบัตรเดบิต ไม่มีบัญชีกับธนาคารแบงก์พาณิชย์ สามารถถือ “อี วอลเลตของซุปเปอร์ริช” และใช้จ่ายผ่านคิวอาร์โค๊ด (พร้อมเพย์) ในเมืองไทยได้ ซึ่งอี วอลเลตก็จะเป็นจุดแข็งอีกช่องทางในการให้ความสะดวกและรองรับลูกค้าต่างประเทศ เพราะหากนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ถือบัตรวีซ่าหรือมาสเตอร์การ์ดในการใช้จ่ายนั้นจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมแพงกว่าประมาณ 4%

เช่นเดียวกับคนไทยเวลาเดินทางออกไปต่างประเทศ หากใช้จ่ายผ่านบัตรวีซ่าหรือมาสเดตอร์ ก็จะโดนค่าชาร์จประมาณ 3-4% สิ่งที่อยากบอกลูกค้าคือ แม้ลูกค้าคนไทยไปต่างประเทศจะถือ “เทรเวล การ์ด” แต่ไม่ใช่ทุกที่ในต่างประเทศที่จะรับเทรเวล การ์ด ดังนั้นเพื่อความไม่ประมาท จึงแนะนำลูกค้าให้แลกซื้อเงินสดแต่ละสกุลเงินติดตัว 30,000-40,000 บาท แทนที่จะไปใช้บัตรเครดิตหรือเทรเวล การ์ด

สอดคล้องกับนายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี ธนชาต (ทีทีบี) กล่าวว่า ตอนนี้การรูดบัตรเครดิตซื้อสินค้าหรือบริการในต่างประเทศจะคิดค่าชาร์จ 2.5% ส่วนที่จะเก็บ DCC Fee อีก 1% ของมูลค่าการใช้จ่ายที่แปลงเป็นสกุลเงินบาทนั้น เพราะทางวีซ่า/มาสเตอร์การ์ดชาร์จมาเป็นค่าความเสี่ยง

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี ธนชาต (ทีทีบี)

“DCC Fee เขาคิดมานานแล้ว คิดมาโดยตลอด หลังๆ คนไทยไปออนไลน์มากขึ้น วีซ่าก็บอกว่า ถ้าแบงก์ไหนปล่อยให้ทำแบบนี้วีซ่าจะคิดค่าความเสี่ยง ตอนนี้บัตรเดบิตรูดเป็นสกุลดอลลาร์จ่ายค่าธรรมเนียม 2.5% ส่วน 1% เราแบกไว้ได้ที่ผ่านมา โดยมีรายได้จากการเรียกเก็บจากร้านค้า ซึ่งพอจะบริหารจัดการได้” นายปิติ กล่าว

ดังนั้น ในส่วนของลูกค้าที่ใช้ TTB All Free จึงไม่คิด DCC Fee ตลอดไป ถ้าใช้บัตรเครดิตวีซ่า/มาสเตอร์รูดซื้อสินค้าหรือบริการในต่างประเทศและแปลงเป็นสกุลเงินบาท ก็จะคิดค่าชาร์จตรงนี้ สมมติไปญี่ปุ่น ร้านค้า (ดองกี้) จะใช้เทคคอมพานีมาทำให้ ถ้าคนไทยจ่ายเป็นเงินบาทที่ญี่ปุ่นก็จะแพง เพราะทางร้านค้าจะบวก 3-5% แต่อัตราแลกเปลี่ยน มีการเปลี่ยนแปลงตลอด กว่าจะเรียกเก็บ ทางวีซ่าก็เสียรายได้จากอัตราแลกเปลี่ยนไป ทางวีซ่าจึงคิดค่าความเสี่ยง” นายปิติ กล่าว

 อย่างไรก็ตาม DCC Fee ตามมาหลอนบนดิจิทัล เช่น ถ้าเราจองผ่านอโกด้า ไปสหรัฐ ไปอังกฤษ หรือยุโรป เขาให้เลือกสกุลเงินได้ เพราะอโกด้า นอกจากขายตั๋วแล้ว เขายังขายอัตรา

แลกเปลี่ยนด้วย แต่ที่ปวดหัวคือ ถ้าซื้อคลาวน์ ซื้อเน็ตฟลิกซ์ บน APPLE ทางเว็บไซด์หรือร้านค้า เสนอ DCC Fee เป็นเงินบาทอยู่ข้างหลังแล้ว แต่ลูกค้าไม่เคยรู้สึกเอง

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,972 วันที่ 7 - 9 มีนาคม พ.ศ. 2567