ธปท.ส่งทีมตรวจแบงก์ หาช่องลดดอกเบี้ย

18 ม.ค. 2567 | 17:07 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ม.ค. 2567 | 17:08 น.

ธปท.ลั่นปีนี้ เป็นธีมของการตรวจสอบแบงก์-นันแบงก์ ภายใต้กำกับให้บริการเหมาะสม เดินหน้าคุ้มครองสิทธิลูกหนี้-ผู้บริโภค แจงหุ้นกู้ครบกำหนดปีนี้ 1 ล้านล้านบาท เป็นปัญหาเฉพาะจุด ไม่มีความเสี่ยงต่อระบบสถาบันการเงิน-กองทุน 

KEY

POINTS

  • ธปท.ระบุ การส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปสู่ธนาคารพาณิชย์ยังมีน้อย โดยเฉพาะดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ ขณะที่เงินฝากประจำ ส่งผ่านประมาณ 63% 
  • ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) 9 เดือนปี 66 อยู่ที่ 2.95%  ยังไม่ได้สะท้อนค่าใช้จ่ายอีกหลายรายการ ธปท.ต้องเข้าไปดูว่า จะปรับลดส่วนต่างได้หรือไม่
  • ธปท.เตรียมเรียกธนาคารพาณิชย์เข้ามาหารือ เพื่อให้ดูแลลูกหนี้้มากกว่านี้ เช่น ดูแลคนกลุ่มเปราะบาง หรือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเงินกู้
  • สถานการณ์ลูกหนี้กลุ่มที่น่ากังวลที่สุดคือ สินเชื่อรถยนต์และสินเชื่อบ้าน โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพอิสระที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท 

ท่ามกลางเสียงวิพากวิจารณ์การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ในประเด็น “เศรษฐกิจไทยขยายตัวช้ากว่าคาด เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำหรือติดลบ ธนาคารพาณิชย์ทำกำไรและมีส่วนต่างดอกเบี้ยสูง แบงก์ชาติควรจะลดดอกเบี้ยนโยบาย” 

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดเผยว่า การส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปสู่ธนาคารพาณิชย์ยังมีน้อย โดยเฉพาะดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ แต่ปัจจุบันหลายธนาคารเริ่มขยับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากมากขึ้น ทั้งเงินฝากประจำและเงินฝากออมทรัพย์ดิจิทัล โดยการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำประมาณ 63% ด้วยสภาพคล่องยังไม่ตึงตัว

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

 

ทั้งนี้ ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ของระบบธนาคารพาณิชย์ ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 อยู่ที่ 2.95% แม้จะสูงขึ้นจากช่วงก่อนโควิด แต่ยังไม่ได้สะท้อนค่าใช้จ่ายอีกหลายรายการในการประกอบธุรกิจ ดังนั้น ธปท.จะต้องเข้าไปดูถึงประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งดูว่าจะสามารถปรับลดส่วนต่างตรงนี้ได้หรือไม่ 

“ธปท.เตรียมเรียกธนาคารพาณิชย์เข้ามาหารือ เพื่อให้ดูแลลูกหนี้มากกว่านี้และต้องทำมากกว่านี้ เช่น ดูแลคนกลุ่มเปราะบาง หรือคนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเงินกู้เป็นคนละกลุ่มกับเงินฝาก โดยย้ำว่า ธปท.ดูทั้งความมั่นคงระบบสถาบันการเงินและดูแลสถาบันการเงินให้บริการได้เหมาะสม ปีนี้จะเป็นธีมของการตรวจสอบ”นางสาวสุวรรณีกล่าว

สถานการณ์ตลาดตราสารหนี้ไทยปี 2566

ทั้งนี้ สถานการณ์ลูกหนี้กลุ่มที่น่ากังวลที่สุดคือ สินเชื่อรถยนต์ และ สินเชื่อบ้าน โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพอิสระที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท โดยสินเชื่อบ้านในรายที่ธนาคารบวกดอกเบี้ยเผื่อไว้ (Buffer)ไม่เพียงพออาจจะกระทบความสามารถในการชำระหนี้จากการส่งผ่านดอกเบี้ยเที่พิ่มประมาณ 1.4% เมื่อเจอเหตุการณ์นี้ ธปท.จะให้สถาบันการเงินและฝ่ายตรวจสอบเข้าไปดูอาจจะขยายระยะเวลาหรือขยับอัตราดอกเบี้ย ซึ่งธปท.จะทำ เป็นเฉพาะกลุ่ม 

ขณะที่มาตรการแก้หนี้อย่างยั่งยืนต่อไป ธปท.จะกำหนดเป็นประกาศให้เจ้าหนี้ เมื่อปล่อยสินเชื่อไปแล้วมีปัญหา เป็นหน้าที่ของเจ้าหนี้ ที่ต้องเข้าไปให้ความช่วยเหลือ มีการกำหนดหลักเกณฑ์ขั้นต่ำอย่างชัดเจน ตั้งแต่ยังไม่เป็นหนี้เสีย(เอ็นพีแอล) เจ้าหนี้ต้องเข้าไปช่วยเหลืออย่างน้อย 1ครั้ง เมื่อเป็นเอ็นพีแอลต้องปรับโครงสร้างหนี้ 1ครั้ง และชะลอการขาย 60 วันก่อนจะขายลูกหนี้ 

ในส่วนการคุ้มครองสิทธิลูกหนี้ ที่จะทำเพิ่มเติมนั้น จะกำหนด ห้ามสถาบันการเงินเจ้าหนี้ไม่ว่าธนาคารพาณิชย์หรือ Non Bank คิดค่าปรับในการชำระหนี้ก่อนกำหนด โดยเฉพาะสินเชื่อบุคคลทุกประเภท ยกเว้นสินเชื่อบ้าน (ตัวอย่างที่ธปท.พยายามคุ้มครองสิทธิลูกหนี้ในหลักเกณฑ์ Responsible Lending ที่ออกไป ห้ามคิดดอกเบี้ยทบต้นใน product สินเชื่อประเภทรายย่อย) 

“ที่ผ่านมา ธปท.ห้ามไม่ให้คิดดอกเบี้ยทบต้นและมีการควบคุมรายการต่างๆ ซึ่งปีที่แล้ว(2566) แบงก์มีการส่งคืนเงินแก่ลูกค้ากว่า 3.3ล้านบัญชีคิดเป็นวงเงิน 1,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นกรณีที่แบงก์เรียกเก็บไม่ถูกต้องหรือเก็บเกิน”นางสาวสุวรรณีกล่าว 

ด้านนายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธปท.กล่าวถึงตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนหรือหุ้นกู้เอกชนยังโตได้อย่างต่อเนื่อง แม้ต้นทุนการระดมทุนจะปรับเพิ่มขึ้นบ้าง โดยปี 2566 ยังคงเห็นยอดคงค้างเติบโตขึ้นราว 9% แม้ชะลอตัวจาก 13% ในปีก่อน แต่ถือว่า ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับในอดีต ส่วนหนึ่งมาจากภาคธุรกิจขนาดใหญ่เร่งล็อกต้นทุนการเงินจากดอกเบี้ยที่สูงขึ้น 

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธปท.

อย่างไรก็ตามปี 2567 จะมีหุ้นกู้ที่ครบกำหนดที่ประมาณ 1 ล้านล้านบาท โดยที่ประมาณ 10%หรือ ประมาณ 1 แสนล้านบาท จะเป็นหุ้นกลุ่มไฮยิลด์ ซึ่งส่วนใหญ่จะครบกำหนดในช่วงไตรมาสแรก ส่วนความเสี่ยงการผิดนัดชำระคืนหุ้นกู้นั้นมองว่า เป็นปัญหาเฉพาะราย เฉพาะบริษัท มั่นใจไม่ขยายวงไปในระบบตลาดการเงิน 

ในแง่ของการโรลโอเวอร์ยังเป็นปัญหาเฉพาะบริษัท การจะลุกลามในตลาดหุ้นกู้หรือระบบสถาบันการเงินนั้นยังมีค่อนข้างต่ำ เนื่องจากขนาดของหุ้นกู้ที่เป็นกลุ่มไฮยิลด์ มีขนาดเล็กทั้งหมดประมาณ 7%ของยอดคงค้างของหุ้นกู้ภาคเอกชน อีกกว่า 90% เป็นหุ้นกู้อยู่ในกลุ่ม Inอินเวสเม้นต์เกรด ซึ่งไม่มีประเด็นปัญหาแต่อย่างใด

“ยังเป็นปัญหาเฉพาะบริษัท ในแง่ความเสี่ยงที่จะลุกลามในตลาดหุ้นกู้หรือระบบสถาบันการเงินนั้นยังมีค่อนข้างต่ำ เนื่องจากขนาดของหุ้นกู้ที่เป็นกลุ่มไฮยิลด์ มีขนาดเล็กทั้งหมดประมาณ 7% ของยอดคงค้างของหุ้นกู้ภาคเอกชน อีกกว่า 90%เป็นหุ้นกู้อยู่ในกลุ่ม Investment grade ซึ่งไม่มีประเด็นปัญหาแต่อย่างใด”

อย่างไรก็ตาม มีบางบริษัทที่ขายหุ้นกู้ไม่หมดในช่วงที่ผ่านมาได้ปรับตัวไม่ว่าการให้ผลตอบแทนสูงขึ้น หรือวางหลักประกันที่มากขึ้นหรือ มีการเจรจากับผู้ถือหุ้นกู้ขยายอายุหรือขยายสัญญา จึงเป็นปัญหาเฉพาะตัวและอยู่ในวงจำกัด รวมถึงความเชื่อมโยงกับระบบการเงินไม่ว่าจะผ่าน กองทุนรวมที่ถือหุ้นกู้ ไฮยิลด์ราว 600 ล้านบาท คิดเป็นแค่ 0.1%ของสัดส่วนหุ้นกู้เอกชน

ดังนั้น ความเสี่ยงที่จะมีการไถ่ถอนจำนวนมาก กองทุนรวมราคาจะลดลง จึงมีต่ำมาก เพราะผลกระทบของหุ้นกู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อกองทุนรวมมีน้อยมาก และย้ำว่าสถาบันการเงินถือครองหรือให้สินเชื่อกลุ่มไฮยิลด์น้อยแค่ 0.23% จึงไม่มีความเสี่ยงไปถึงระบบสถาบันการเงิน ปัญหาหลักจะมีแต่เรื่อง Sentiment ของผู้ถือหุ้นกู้

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,958  วันที่ 18-20 มกราคม พ.ศ. 2567