เศรษฐกิจไทย เสี่ยงเงินฝืด จับตากิจกรรมเศรษฐกิจ

13 ม.ค. 2567 | 12:01 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ม.ค. 2567 | 12:01 น.
1.2 k

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี จับตากิจกรรมทางเศรษฐกิจ หลังทุกสำนักวิจัยปรับลดประมาณจีดีพี เหตุภาพเศรษฐกิจปี 67 ไม่ค่อยดี มีความเสี่ยงที่ระดับอัตราเงินเฟ้อจะไม่ตอบสนอง แนะเปิดใช้หลายเครื่องยนต์ พร้อมดูแลเงินเฟ้อพื้นฐานให้บวกอ่อนๆในระดับ Healthy

กระทรวงพาณิชย์กำหนดจะประกาศตัวเลขอัตราเงินเฟ้อครั้งต่อไปในวันที่จันทร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 โดยประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน มกราคม 2567  มีโอกาสติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 หลังจากเงินเฟ้อทั่วไปเดือนธันวาคม 2566 ติดลบ 0.83% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นการลดลงต่อเนื่องเดือนที่ 3 และเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในรอบ 34 เดือน จากเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่ติดลบ 1.17%

ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2566  เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1.23% เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่เฉลี่ยสูงขึ้น 6.08% เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนธันวาคม 2566 ขยายตัว 0.58% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และสูงขึ้น 0.06% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และเฉลี่ยทั้งปี 2566 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัว 1.27%  เมื่อเทียบกับปี 2565 ขยายตัว 2.51%

สำหรับปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับลดลงคือ

  • มาตรการตรึงราคานํ้ามันดีเซลและตรึงค่ากระแสไฟฟ้าสำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 300 หน่วย
  • ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินในประเทศปรับลดลงตาม ผลกระทบจากเอลนีโญ่มีแนวโน้มลดลง
  • มาตรการส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการ เพื่อรองรับการใช้จ่ายของประชาชนที่คาดว่า จะเพิ่มขึ้นตามมาตรการ Easy E-Receipt

เศรษฐกิจไทย เสี่ยงเงินฝืด จับตากิจกรรมเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น เช่น ภาคการท่องเที่ยวที่ส่งผลให้สินค้า และบริการที่เกี่ยวข้องปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งต้องติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก อาทิ การโจมตีเรือขนส่งสินค้าในทะเลแดงที่ทำให้การขนส่งทางทะเลปรับขึ้นค่าธรรมเนียมและค่าระวางเรือ ซึ่งคาดว่าจะเป็นผลกระทบชั่วคราวและเหตุการณ์ไม่น่าจะยืดเยื้อ เป็นต้น

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี ธนาคารทหารไทยธนชาต (ttb analytics) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ ”ว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้ ยังเติบโตช้า ด้วยปัจจจัยเสี่ยงเดิมๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ แถมปัจจัยเสี่ยงเหล่านั้นยังออกมาแย่กว่าที่คาด โดยเฉพาะภาพที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดคือ การบริโภคภาคเอกชน ซึ่งปีนี้ยากที่จะคาดหวังเป็นที่พึ่งได้ คงไม่เห็นการบริโภคภาคเอกชนเติบโตเท่าเดิมที่ 6-7%  คาดว่าน่าจะเติบโตเหลือแค่ 3.2% ในปีนี้จากปีที่แล้วโต 6.3%

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี ธนาคารทหารไทยธนชาต

ทั้งนี้ในความเป็นจริงนั้น การลงทุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนน่าจะเป็นตัวช่วยเศรษฐกิจไทย แต่จากที่ ttb analytics ประเมินการลงทุนเอกชนจะเติบโตที่ 2.9% หรือการลงทุนภาครัฐ 2.3% ซึ่งเป็นอัตราเติบโตที่ต่ำเกินไป ขณะที่การส่งออกอาจจะดีขึ้น แค่เป็นบวกอ่อนๆที่ 2.0% จากที่คาดว่า สิ้นปี 2566 ส่งออกจะติดลบ 1% แต่แนวโน้มจำนวนนักท่องเที่ยวปีนี้น่าจะกลับมา 33 ล้านคน

“ที่ผ่านมาแน่นอนว่าไทยต้องพึ่งพาการบริโภคในประเทศมากขึ้น เมื่อการส่งออกลดความร้อนแรงลง แต่ถัดไปจำเป็นต้องเปิดใช้หลายเครื่องยนต์ เพื่อกระจายเป็นตัวช่วยให้เศรษฐกิจเติบโต ไม่ใช่จะกระตุ้นเฉพาะการบริโภคเอกชน เพราะตอนนี้ระดับหนี้ครัวเรือนยังสูง อีกทั้งภาระการผ่อนชำระหนี้ต่อเดือนก็สูงเช่นกัน โดยเฉพาะต้องเร่งผลักดันทั้งการลงทุนภาคเอกชนและการลงทุนภาครัฐ และเร่งฟื้นฟูท่องเที่ยวเพราะตอนนี้ท่องเที่ยวต่างชาติกลับมา 68-70% คงเหลือส่วนต่างอีก 30%” นายนริศ กล่าว

ในแง่การส่งผ่านต้นทุนหรือแนวโน้มราคาสินค้าจะขยับขึ้นนั้น นายนริศกล่าวว่า ส่วนตัวมองผู้ผลิตอาจจะไม่สามารถส่งผ่านต้นทุนทั้งหมด เพราะกำลังซื้อเริ่มชะลอลง ซึ่งราคาสินค้าไม่น่าจะปรับขึ้นอีก ถามว่า ตอนนี้ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืดไหม ส่วนตัวมองว่า ยังไม่ฝืด แต่มีความเสี่ยง ถ้าเงินเฟ้อติดลบมาก ซึ่งต้องจับตาดูกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพราะในรอบปีที่ผ่านมาและปีนี้ทุกสำนักวิจัยต่างทยอยปรับลดประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจลงมากพอสมควร เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดจาก 4% เหลือ 3.2%

ส่วน ttb analytics ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 2566 เหลือโต 2.4% จากเดิมคาดไว้ที่ 2.8% และในปี 2567 คาดว่า จะเห็นจีดีพีเติบโต 3.1% (ยังไม่รวมมาตรการแจกเงินดิจิทัลวอลเลต)

ดังนั้น ภาพการเติบโตของเศรษฐกิจปี 2567 ไม่ค่อยดีและมีความเสี่ยงที่ระดับอัตราเงินเฟ้อจะไม่ตอบสนอง กรณีเงินเฟ้อไม่เติบโต ซึ่งก็ปกติในภาวะที่เศรษฐกิจเป็นแบบนี้ ซึ่งเงินเฟ้อที่ลดลงนั้น มาจากด้านซัพพลายที่เป็นมาตรการภาครัฐทั้งลดราคาเชื้อเพลิงและค่าไฟฟ้า รวมถึงระดับราคาน้ำมันโลกที่ลดลง

“ฉะนั้น สิ่งที่อยากจะให้ดูคือ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ไม่ใช่ดูอัตราเงินเฟ้อทั่วไป และโดยเฉพาะเงินเฟ้อพื้นฐานที่สูงกว่านี้ ซึ่งมาจากด้านดีมานด์ ไม่ใช่ด้านซัพพลายที่มาจากมาตรการภาครัฐ ซึ่งต้องมีความสมดุลให้เศรษฐกิจเติบโตและเงินเฟ้อพื้นฐานเป็นบวกอ่อนๆ ในระดับ Healthy ซึ่ง ttb analytics คาดว่า ทั้งปีที่ผ่านมา เงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1.3% และปี 2567 จะขยับเป็น 2.0% ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน 0.5-1.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ 5 ปีอยู่ที่ 1.8%” นายนริศ กล่าวทิ้งท้าย

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,957 วันที่ 14 - 17 มกราคม พ.ศ. 2567