“เอสซีบี เอกซ์”ชี้หนี้ครัวเรือนกดเศรษฐกิจฟื้นตัว

13 ม.ค. 2567 | 09:27 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ม.ค. 2567 | 09:58 น.

“บิ๊กเอสซีบี เอกซ์” ชี้เศรษฐกิจไทยโตไม่เต็มที่ เหตุหนี้ท่วม ทั้งหนี้ครัวเรือน หนี้นอกระบบ แถมเศรษฐกิจกระจุกตัวกลุ่มคนรวย แต่คนส่วนใหญ่ของประเทศยังเดือดร้อน รายได้ไม่พอรายจ่าย ต้องกู้เพื่อมาดำรงชีพ

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน)ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ”ว่า โครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการท่องเที่ยวและการส่งออกจำนวนมาก ทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤติโควิด-19 และรุนแรงมากกว่าประเทศอื่นๆ จากการเปลี่ยนแปลง ทั้งพฤติกรรมผู้บริโภค รูปแบบสินค้า ส่งผลกระทบต่อความสามารถการแข่งขันของไทยที่ลดลง

“เอสซีบี เอกซ์”ชี้หนี้ครัวเรือนกดเศรษฐกิจฟื้นตัว

นอกจากนั้น การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในอดีตที่ขยายตัวได้เฉลี่ยปีละ 4-5% ยังมาจากกลุ่มคนแค่กลุ่มเดียวคือกลุ่มระดับบนที่ปรับตัวได้เร็วมีความแข็งแกร่งทั้งในด้านฐานทุนและโอกาส ดังนั้น แม้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ในระดับ 4-5% แต่เป็นการเติบโตที่ซ่อนปัญหาเอาไว้มาก

ดังนั้นภาพที่เห็นชัดเจนคือ เศรษฐกิจไทย อาจไม่ได้เติบโตอย่างที่ควรเป็น ปัญหาหนึ่งมาจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ทั้งความสามารถการแข่งขัน การไม่สามารถลงทุนหรือขยายธุรกิจใหม่ๆได้ ทำให้คนที่อ่อนแอหรือกลุ่มที่ไม่ได้เข้มแข็งอยู่เดิมโดนผลกระทบมากกว่าคนอื่นๆ แม้หลายปีที่ผ่านมา จะพยายามเข้าไปแก้ปัญหา แต่เป็นเพียงการเยียวยา ไม่มีแผนระยะยาวว่า จะเพิ่มรายได้ เพิ่มโอกาสในการมีรายได้อย่างยั่งยืนอย่างไร

นายอาทิตย์กล่าวว่า ปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยที่กำลังเผชิญอยู่ มีทั้งปัญหาระยะสั้น ปัญหาเร่งด่วน ที่มีผลข้างเคียงอย่างมาก เช่น ปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบ ขณะที่รายได้ของคนกลุ่มรายได้ปานกลางและรายได้น้อยช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ลดลงไปมาก ดังนั้นคนกลุ่มนี้ จะอยู่รอดได้ก็ต่อเมื่อกู้มาใช้จ่าย จึงทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

นอกจากนั้น ประเทศไทยยังมีปัญหาเรื่องการลงทุนที่เกิดขึ้นน้อยมาก โดยเฉพาะที่เกี่ยวกันเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือเรื่องของ Climate Change ทำให้หลายประเทศต้องตั้งกฎกติกา เพื่อนำไปสู่ความรับผิดชอบมากขึ้นในเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งล้วนนำไปสู่การเปลี่ยนอุตสาหกรรม เปลี่ยนโปรดักต์ ขณะที่การทำเรื่อง R&D ยังเกิดขึ้นน้อยมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวลในภาพระยะยาว

อย่างไรก็ตาม การกระตุ้นเศรษฐกิจยังมีความจำเป็น เพราะวันนี้มีทั้งคนที่เดือดร้อน มีรายได้ไม่เพียงพอ รายจ่ายมากกว่ารายได้ ดังนั้นนโยบายภาครัฐที่จะสนับสนุนให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระดับไมโคร ระดับตำบล ระดับอำเภอ เพื่อให้คนมีรายได้น้อยมีการบริโภคเพิ่มขึ้น สนับสนุนการค้าขาย ท้ายที่สุดจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยตามมา สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถประเมินความคุ้มค่าของมาตรการได้ ว่าคุ้มค่าหรือไม่คุ้ม แต่ช่วยบรรเทาความเดือนร้อนให้คนส่วนใหญ่ได้

โจทย์ใหญ่ของประเทศไทย หลายสิ่งหลายอย่างยังมองว่า ต้องการร่วมมือร่วมใจทำให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลายสิ่งยังเกิดขึ้นน้อย ทั้งการเอาเงินลงทุนใหม่เข้ามา การลงทุนเพื่อตอบสนองภาคเกษตรการต่อยอดธุรกิจภาคบริการ การทำให้ประเทศไทย เป็นประเทศที่น่าลงทุน

“เศรษฐกิจไทยอาจกลับไปเติบโตได้ 5-6% แต่ถ้ายังกระจุกเฉพาะคนกลุ่มบนอย่างเดียว ไม่สามารถกระจายความมั่งคั่งสู่คนระดับล่างได้ ก็ไม่มีความหมาย สิ่งเหล่านี้ จึงต้องวางแผนให้ดี เพื่อจะให้คนส่วนใหญ่จำนวนมากได้ประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจด้วย ดังนั้นจึงสิ่งที่จำเป็นอาจต้องกลับมาดูปัญหาตรงนี้อย่างเร่งด่วน เพื่อทำให้เราเดินไปข้างหน้าได้”นายอาทิตย์กล่าวทิ้งท้าย