ดาวโจนส์ปิดบวก 53.58 จุด ขานรับข้อมูลศก.ชะลอตัวหนุนเฟดลดดอกเบี้ย

29 ธ.ค. 2566 | 06:43 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ธ.ค. 2566 | 06:47 น.

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกในวันพฤหัสบดี (28 ธ.ค.) ขานรับการเปิดเผยตัวเลขผู้รับขอสวัสดิการว่างงานในสหรัฐที่สูงกว่าคาด ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 37,710.10 จุด เพิ่มขึ้น 53.58 จุด หรือ +0.14%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,783.35 จุด เพิ่มขึ้น 1.77 จุด หรือ +0.04% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 15,095.14 จุด ลดลง 4.04 จุด หรือ -0.03%

ดัชนี S&P 500 ปิดบวกเล็กน้อย และอยู่ห่างจากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ทำไว้เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2565 อยู่เพียง 0.3% ขณะที่ดัชนี Nasdaq ปรับตัวลงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ดัชนีทั้ง 3 ตัวยังคงมีแนวโน้มที่จะปิดบวกในเดือนธ.ค., ในไตรมาส 4 และในปี 2566

ตลาดหุ้นสหรัฐมีแนวโน้มทำสถิติปรับตัวขึ้น 9 สัปดาห์ติดต่อกัน โดยได้แรงหนุนจากการที่เฟดส่งสัญญาณยุติวงจรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า
         

ในบรรดาหุ้น 11 กลุ่มของดัชนี S&P500 นั้น หุ้นกลุ่มสาธารณูปโภคปรับตัวขึ้นเป็นเปอร์เซ็นต์มากที่สุดในวันพฤหัสบดี ขณะที่กลุ่มพลังงานปรับตัวลงมากที่สุดตามราคาน้ำมันดิบที่ลดลง

การเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐชะลอการฟื้นตัว โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 12,000 ราย สู่ระดับ 218,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 210,000 ราย

ด้านสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผยว่า ดัชนีการทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) ทรงตัวที่ระดับ 71.6 ในเดือนพ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 20 ปี หรือนับตั้งแต่ NAR จัดทำดัชนีดังกล่าวในปี 2544 และเมื่อเทียบรายปี ดัชนีร่วงลง 5.2% ในเดือนพ.ย. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าดัชนีอาจปรับตัวขึ้น 1% ในเดือนพ.ย.

 

FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า บรรดานักลงทุนคาดการณ์ว่า มีโอกาส 74.1% ที่เฟดจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค. 2567 และเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยจำนวน 6 ครั้งในปี 2567 โดยปรับลดครั้งละ 0.25% รวม 1.50% มากกว่าที่เฟดส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้ง ครั้งละ 0.25% รวม 0.75%

นอกจากนี้ ตลาดจับตาปรากฏการณ์ "ซานตา แรลลี" ของตลาดหุ้นนิวยอร์กในปีนี้ ซึ่งมักเกิดขึ้นเป็นเวลา 7 วันทำการ โดยมีขึ้นในช่วง 5 วันทำการสุดท้ายของปีปัจจุบัน รวมทั้ง 2 วันแรกของปีใหม่

ข้อมูลจาก Stock Trader's Almanac ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2512 ดัชนี S&P 500 ปรับตัวขึ้นเฉลี่ย 1.3% ในช่วงเวลา 7 วันดังกล่าว