เปิดท็อป 5 บลจ. โกยยอดขายกองทุน Thai ESG สูงสุด

25 ธ.ค. 2566 | 14:25 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ธ.ค. 2566 | 19:30 น.
588

สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน เปิดรายชื่อ 5 อันดับ บลจ. โกยยอดขาย "กองThai ESG" สูงสุด พร้อมกลยุทธ์ตัวแปรที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้ลงทุน อัพเดท ณ 22 ธ.ค.66 เข้าใกล้ 3,000 ล้านบาท ลุ้น 4 วันสุดท้าย ( 25-28 ธ.ค.66 ) ดันยอด

จากการที่กระทรวงการคลัง พร้อมด้วยสภาธุรกิจตลาดทุนไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสมาคมบริษัทจัดการลงทุน ร่วมแถลงเปิดตัว"กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thailand ESG : TESG) ซึ่งเป็นกองทุนลดหย่อนภาษี พร้อมเปิดเสนอขายพร้อมกัน  22 กองทุน จาก 16 บริษัทจัดการลงทุน (บลจ.)  ตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2566 เป็นต้นมา ตั้งเป้าระดมเงินลงทุน จนถึงสิ้นปี 2566 ที่ 10,000 ล้านบาท

ล่าสุด นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการ สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) ได้อัพเดทยอดขายของกองทุน TESG ทั้ง 22 กองทุน ผ่านมา 15 วัน  ถึง ณ วันที่ 22 ธันวาคม ( 8- 22 ธ.ค. 66 ) ว่าใกล้ถึง 3,000 ล้านบาท โดยเชื่อว่าช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปีวันที่ 23- 28 ธันวาคม 2566 จะมีผู้ที่ตามเข้ามาสมทบอีกมาก โดยอยู่ระหว่างรอดูจังหวะ และอาจยังใช้เวลาเลือกดูว่าจะไปเข้าที่กองไหน กับเลือกของ บลจ.ไหน รวมถึงเทียบค่าบริหารกองทุนและค่าใช้จ่ายในชื่ออื่น ๆ ของแต่ละกองทุนมาเทียบกัน
 

เปิดท็อป 5 บลจ. โกยยอดขายกองทุน Thai ESG สูงสุด

เปิด 5 อันดับ บลจ.กวาดยอดขายสูงสุด
          
อันดับ 1 บลจ.กสิกรไทย กวาดไปได้ 582 ล้านบาท โดยตั้งแค่กองเดียวเน้น ๆ ในแบบ Passive Fund (ลงทุนแบบเกาะไปตามดัชนีอ้างอิง) ชื่อ เคTarget Net Zero ชนิดเก็บสะสมกำไรโดยไม่จ่ายปันผล เป็นกองที่จะเกาะไปกับหุ้นดัชนี SET100 TRI ที่มีการเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผมมีข้อสังเกตว่า ข้อมูลการเก็บค่าธรรมเนียมต่าง ๆ จริง ในหนังสือชี้ชวน แจ้งไว้ว่าเก็บค่อนข้างต่ำกว่าคู่ต่อสู้ โดยเก็บเพียง 0.67% ต่อปี (ไม่รวมกรณีสับเปลี่ยนกองทุนไปบลจ.อื่น) 

อันดับ 2 บลจ.ไทยพาณิชย์ ยุทธวิธีแตกต่างจาก บลจ.กสิกรไทย อย่างมาก โดยตั้งกอง Thai ESG ไว้ถึง 6 แบบ แบ่งเป็น 3 แนวทาง คือ แบบกองผสม (หุ้นและตราสารหนี้แบบยืดหยุ่นน้ำหนัก) แบบกอง Active (คือใช้ฝีมือผู้จัดการกองทุนมากและคิดค่าธรรมเนียมสูง) และแบบกอง Passive (ลงทุนแบบเกาะน้ำหนักตามดัชนี และคิดค่าธรรมเนียมต่ำ)

ทั้ง 3 แบบข้างต้น แบ่งกองเป็น 2 ชนิดให้เลือก คือ แบบจ่ายปันผลกับไม่จ่ายปันผล อีกด้วย สรุปแล้วจึงมี 6 กองทุนเมื่อรวมกัน มียอด NAV รวมกันทั้ง 6 กอง 515 ล้านบาทเท่าที่ดูตัวเลขรายกอง พบว่าแบบกองผสมมียอดซื้อมากสุดและกองที่มีนโยบายปันผลมียอดสูงกว่ากองที่ไม่มีนโยบายปันผล

อันดับ 3 บลจ.บัวหลวง ตั้งกองเดียวในแบบกอง Active ชื่อ บัวหลวงทศพลไทยเพื่อความยั่งยืน ตั้งเป้าลงทุนหุ้นที่มี ESG ที่ดี และคัดเลือกว่าจะให้ผลตอบแทนดีที่สุด 10 อันดับแรก เก็บค่าธรรมเนียมในระดับกลาง ๆ ราว 1.6% ต่อปี สอดคล้องกับความเป็นกอง Active ซึ่งสังเกตว่าเก็บต่ำกว่ากอง Active ของหลายค่ายที่เก็บแถว 2%ต่อปี ผลจากยุทธวิธีนี้ บัวหลวง เข้าป้ายได้สูงเป็นอันดับ 3 รวม NAV ล่าสุด 421 ล้านบาท

 


         

อันดับ 4 ตกเป็นของ บลจ.กรุงไทย ใช้ยุทธวิธีออกเป็น 3 กอง ใน 3 แนวทางให้เลือก คือ 1.แบบผสมหุ้น ESG เกรด A กับตราสารหนี้ ในสัดส่วน 70/30 ส่วนแนวทาง 2.Active Fund ลงในหุ้น ESG เกรด Aและแนวทาง 3.หุ้น ESG 50 ตัวที่ใหญ่สุดโดยทั้ง 3 กองมีนโยบายจ่ายปันผลเช่นเดียวกัน สามารถกวาดยอด NAV มาได้รวมกัน 277 ล้านบาท โดยกองที่ขายดีสุด คือกองแบบผสมหุ้นกับตราสารหนี้ 70/30

อันดับ 5 เป็นของ บลจ.เกียรตินาคินภัทร ด้วยการเสนอ 2 กองทุนที่ต่างกัน 2 ขั้ว คือ กองพันธบัตรรัฐบาลกับกองหุ้นในแนว Active Fund ซึ่งนับเป็นเครือธนาคารเล็กที่กวาดยอดได้มากที่สุด รวมได้ถึง 231 ล้านบาท โดยกองพันธบัตรขายดีกว่ากองหุ้น

ส่วนอีก 11 บลจ. เช่น กรุงศรี ทิสโก้ ยูโอบี และบลจ.อื่น ๆ นั้นก็มียอดลดหลั่นกันลงไป ตั้งแต่ 100 กว่าล้านบาท ลงไปถึงระดับหลายสิบล้านบาท และน้อยสุดคือ ต่ำกว่า 10 ล้านบาท

เมื่อพิจารณายอดของแต่ละกอง Thai ESG แล้ว มีข้อสังเกตถึงตัวแปรที่มีผลต่อยอดการซื้อของผู้ลงทุน ดังนี้

  • เครือธนาคารใหญ่ได้ยอดค่อนข้างสูง อาจหมายถึงมีฐานลูกค้ามากกว่า ความสะดวกใน App และจำนวนสาขาบริการ หรือเป็นแบรนด์ที่นึกได้ทันทีที่สนใจซื้อผลจากประเด็นนี้ ทาง บลจ.ที่อยู่เครือธนาคารเล็กหรือไม่อยู่ในเครือธนาคารอาจต้องเร่งประชาสัมพันธ์อีกหน่อย เพราะแต่ละ บลจ.ก็มีความน่าสนใจไม่ยิ่งหย่อนกัน
  • อาจไม่จำเป็นต้องมีแยกจำนวนกองมาก ๆ ก็มียอด NAV มากกว่าได้ แบบอันดับ 1 กสิกรไทย กับอันดับ 3 บัวหลวง สันนิษฐานว่าจำนวนกองที่น้อยทำให้เจ้าหน้าที่และลูกค้าทำความเข้าใจได้ง่ายและเร็วช่วยให้กระบวนการซื้อเกิดขึ้นเร็วด้วย
  • ค่าธรรมเนียมต่ำมีผลพอสมควร ตัวอย่างจากอันดับ 1 กสิกรไทย มีระบุค่าธรรมเนียมที่เก็บจริงค่อนข้างต่ำกว่าบลจ.อื่นซึ่งในกรณีกอง Thai ESG มีข้อบังคับให้ต้องถือยาว 8 ปีเต็ม นั่นจึงหมายถึง ผู้ซื้อกองทุนจะมีค่าใช้จ่ายสูงเป็น 8 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อปีที่ประกาศ อัตราที่ต่างกัน 1-1.5% ต่อปีเมื่อถือไป 8 ปี จึงมีค่าใช้จ่ายกันต่างกันรวม 8-12% ดังนั้นหาก บลจ.ใดจะมีแคมเปญเรื่องคิดค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่ดึงดูดใจ แนะนำให้ประกาศเด่น ๆ ชัด ๆ น่าจะขายดีขึ้น
  • ในรายที่มีหลายกองนั้นกองที่ผสมตราสารหนี้กับหุ้นขายดีกว่า คาดว่าผู้ลงทุนรู้สึกสบายใจในความเสี่ยงที่ลดลง
  • ระหว่างกองที่ปันผลกับไม่ปันผล ผู้ซื้อเหมือนจะชอบกองที่จ่ายปันผลมากกว่าทั้งที่การรับเงินปันผลต้องเสียภาษี แต่ถ้าเก็บสะสมเอาไว้จนวันที่เราอยู่ครบ 8 ปีไปขายรับเงินทั้งหมดจะไม่เสียภาษี ซึ่งยังไม่ทราบแน่ชัดว่าผู้ลงทุนชอบรับปันผลจากกำไรเป็นรายได้ประจำปีหรือเป็นเพราะไม่ได้รับทราบว่าถ้ารับปันผลจะถูกเก็บภาษี ณ ที่จ่าย

เลขาธิการ สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน ยังฝากทิ้งท้ายไปยังผู้ที่เตรียมเข้าซื้อกอง Thai ESG ในช่วงท้าย ๆ ปีว่า ปีนี้ วันที่ 29 ธันวาคม เป็นวันหยุด จึง"ซื้อได้ไม่เกินวันที่ 28 ธันวาคม และต้องไม่เกินช่วงบ่าย (อย่ารอจนเย็น)" ตามกำหนดเวลาที่ธนาคารหรือ บลจ.แต่ละแห่งกำหนด ส่วนประเด็นที่ว่าน่าซื้อไหม ใครมีฐานภาษีเท่าไรจะได้กำไรทันทีเท่าไร ตนได้เขียนและทำตารางไว้ตั้งแต่บทความฉบับเดือนก่อน อ่านได้ตาม Link นี้