ก.ล.ต.ส่งหนังสือถึงตลท. จี้เพิ่มระบบตรวจสอบ"ชอร์ตเซล-โปรแกรมเทรด"

20 พ.ย. 2566 | 13:52 น.
อัปเดตล่าสุด :20 พ.ย. 2566 | 15:30 น.

ก.ล.ต.ส่งหนังสือถึงตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้ตลท.ใช้อำนาจในมือ ทบทวนเกณฑ์ เพิ่มระบบตรวจสอบ"ชอร์ตเซล-โปรแกรมเทรด" เพื่อป้องกัน Naked Short Selling สร้างความโปร่งใส และเป็นธรรมกับนักลงทุนทุกกลุ่ม

เมื่อวันที่ 20 พ.ย.2566 นางสาวจอมขวัญ คงสกุล รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า จากกรณีที่ตลาดหุ้นไทยเกิดวิกฤตศรัทธาการทำธุรกรรมชอร์ตเซล และการใช้โปรแกรมเทรดดิ้ง หรือระบบส่งคำสั่งซื้อขายความถี่สูง (HFT) โดยมองว่าเป็นตัวการที่สร้างความไม่เป็นธรรมนั้น ทางสำนักงาน ก.ล.ต. ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้ส่งหนังสือถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในช่วงเช้าของวันนี้ เพื่อให้ใช้อำนาจที่มีในการสร้างความเชื่อมั่นให้กลับคืนมา ดังนี้

- กรณีการทำชอร์ตเซล สำนักงาน ก.ล.ต.ได้ตอกย้ำว่า ก.ล.ต.ได้ให้อำนาจกับคณะกรรมการดลาดหลักทรัพย์ฯ ในการกำหนดราคาการทำชอร์ตเซล (Price Rule) ซึ่งปัจจุบันกำหนดใช้ราคาเท่ากับราคาตลาดฯครั้งสุดท้ายหรือไม่ต่ำกว่าราคาตลาดฯ (Zerotick Rule) แต่คณะกรรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถพิจารณาความเหมาะสมในการกำหนดราคาทำชอร์ตเซลด้วยราคาสูงกว่าราคาครั้งสุดท้าย (Uptick Rule) เพื่อไม่ให้เกิดการดัมพ์ราคา

"บอร์ดตลาดฯมีอำนาจในการกำหนด Price Rule จะเป็น Zerotick หรือ Uptick ก็ได้  ปัจจุบันตลาดใช้ Zerotick อยู่ ซึ่งก.ล.ต.พยายามจะสื่อบอกตลาดฯว่า คุณมีอำนาจอยู่แล้ว จะใช้ Uptick ไหม ตลาดต้องไปดูเอาเองถึงความเหมาะสม แล้วก็เสนอบอร์ดตลาดฯให้กำหนด  Price Rule"  


 

- ขอให้ตลาดหลักทรัพย์ ฯ เพิ่มกลไกการตรวจสอบการใช้โปรแกรมเทรด เพื่อสุดท้ายจะให้ทราบว่าการซื้อขายของโปรแกรมเทรดนั้น ก่อนขายหุ้นนั้นเขามีหุ้นอยู่ในมือก่อนขายหรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีขายหุ้นแล้วไม่มีหุ้นในมือ ( Naked Short Selling )

- รวมทั้งขอให้ตลาดหลักทรัพย์ ทบทวนการซื้อขายผ่านโปรแกรมเทรดให้เกิดความเป็นธรรม มีความโปร่งใส และไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบแก่นักลงทุนทุกกลุ่ม 

ก.ล.ต.ต้องการให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เข้าไปตรวจสอบว่าการซื้อขายผ่านโปรแกรมเทรดดิ้งเป็นธุรกรรมของนักลงทุนสถาบัน หรือนักลงทุนรายย่อยต่างชาติ เนื่องจากนักลงทุนสถาบันมีความเสี่ยงต่ำ ค่าธรรมเนียมการซื้อขายก็จะต่ำกว่านักลงทุนรายย่อย แต่หากเป็นนักลงทุนรายย่อยที่มีความเสี่ยงสูงต้นทุนจะสูงกว่านักลงทุนสถาบัน อย่างไรก็ดี  ให้ตลาดลักทรัพย์ฯตรวจสอบว่ามีนักลงทุนรายย่อยต่างชาติที่สวมรอยเป็นนักลงทุนสถาบันหรือไม่ โดยเข้ามาซื้อขายผ่านคัสโตเดียน ก็จะเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ

 

นางสาวจอมขวัญ คงสกุล  กล่าวอีกว่า หากตลาดหลักทรัพย์ฯ เห็นว่ามีข้อจำกัดของข้อบังคับทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้ ก็ขอให้เสนอมาทางสำนักงาน ก.ล.ต.เพื่อเสนอจะให้บอร์ด ก.ล.ต.อนุมัติการแก้ไขข้อบังคับให้

นอกจากนั้น ก.ล.ต.จะเข้าไปตรวจสอบระบบของตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อให้มั่นใจว่าระบบที่มี สามารถตรวจจับธุรกรรม Naked Short  Selling  มีประสิทธิภาพหรือไม่  โดยที่ผ่านมาสำนักงาน ก.ล.ต. ได้รับรายงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการเข้าไปตรวจสอบในเร็วๆ นี้ รวมทั้งตรวจสอบการทำงานของโบรกเกอร์เกี่ยวกับธุรกรรม Naked Short ด้วย หลังจากตรวจสอบแล้วก็จะไปพิจารณาว่าจะมีมาตรการใดออกมาเสริมหรือไม่

ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวก่อนหน้านี้ว่า นักลงทุนรายย่อยจะมีการนัดหยุดเทรดในวันนี้ (20พ.ย.) นางสาวจอมขวัญ กล่าวว่า จากที่ก.ล.ต.มีการติดตามสถานการณ์พบว่าปริมาณและมูลค่าการซื้อขายหุ้นในเช้าวันนี้อยู่ในระดับปกติ

ทั้งนี้หุ้นไทยปิดตลาดเช้า  ดัชนี SET (SET Index) อยู่ที่ 1,417.97 จุด ปรับเพิ่มขึ้น 2.19 จุด (0.15%)มูลค่าการซื้อขาย 21,338.32 ล้านบาท ด้านบล.กสิกรไทย สรุปตลาดหุ้นช่วงเช้า SET Index  ซื้อขายในกรอบ 1,409-1,419 จุด โดย

  • Sector ที่หนุนดัชนีหลักๆ คือ PROP, HEALTH, PETRO
  • Sector ที่จุดด้ชนีหลักๆ คือ INSUR, COMM 

หุ้นที่ส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวดัชนี SET ดังนี้

  • Most Positive Impact: PTT (+1.16 จุด), DELTA (+0.51 จุด), BH (+0.39 จุด)
  • Most Negative Impact: CPAXT (-0.65 จุด), CPALL (-0.37 จุด), AOT (-0.29 จุด)