บิ๊ก SCB แนะรัฐบาล วางจุดยืนประเทศให้ชัด

04 ต.ค. 2566 | 17:19 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ต.ค. 2566 | 17:31 น.

ไทยพาณิชย์แนะรัฐบาล กำหนดทิศทางประเทศให้ชัด เหตุมีข้องบประมาณจำกัดงบ ภาระหนี้ประเทศสูง เยียวยาต่อไปไม่ได้ ต้องเร่งลงทุน กำหนดประเทศให้เป็นศูนย์กลางภูมิภาคพร้อมบูรณาการทำงานให้สำเร็จ

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอสซีบี เอกซ์ กล่าวในงานสัมนา Thailand Economic Outlook  2024 : Change The Future Today ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ช่วง NEW Growth New Opportunities ว่า  ช่วง 10 ปีที่ผ่านมารายได้หลักของประเทศมาจากภาคท่องเที่ยวและภาคส่งออก โดยไม่ได้ลงทุนเพิ่ม ส่งผลให้รายได้กระจุกตัวอยู่กับคนกลุ่มบนของประเทศ ขณะที่ประชาชนกลุ่มล่างไม่ได้เติบโตและแข็งแกร่งตามการเติบโตของเศรษฐกิจ ดังนั้นเมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 ช่วง 3 ผ่านมา ทำให้คนกลุ่มล่างมีปัญหาหนี้สินเพิ่มขึ้นมาก เพราะรายได้หายไป

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอสซีบี เอกซ์

ดังนั้นโจทย์ที่รัฐบาลใหม่จะต้องทำคือการประสานการทำงานร่วมกัน เพื่อให้คนกลุ่มล่างแข็งแกร่งขึ้น ไม่ใช่แค่การบริหารจัดการน้ำหรือการกระตุ้นการลงทุนเท่านั้น แต่จะต้องกำหนดทิศทางของประเทศให้ชัดเจน เพราะจะไม่สามารถใช้มาตรการเยียวยาได้อีกต่อไป จากข้อจำกัดเรื่องหนี้สาธารณะที่สูงถึง 66% ของจีดีพีจากเพดานที่กำหนดไว้ที่ 70% และยังมีข้อจำกัดด้านงบประมาณอีกด้วย  ดังนั้นจึงไม่สามารถทำได้ทุกเรื่องและเป็นไปได้ทุกอย่าง

สำหรับข้อเสนอแนะคือ รัฐบาลจะต้องมองเรื่องการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคในเรื่อง Green Ecosystem หรือการเป็นศูนย์กลางความบันเทิงระดับโลก การเป็นครัวโลก โดยกำหนดนโยบายให้ชัดเจนว่า ไทยจะเป็นผู้ก่อนตั้งในเรื่องใดบ้าง เพื่อให้ทุกภาคส่วนเห็นชัดเจนว่าจะไปทางไหน ไม่ว่าจะเป็นการดูแลปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความขัดแย้งระหว่างประเทศ  โลจิสติกส์ ความยากง่ายในการทำธุรกิจ และเสถียรภาพของรัฐบาล

“สิ่งสำคัญสำหรับประเทศไทยคือการลงมือปฏิบัติให้เกิดผล  ดังนั้นต้องดูว่าปัญหาที่ทำให้นโยบายที่พูดแล้วไม่เกิดผลคืออะไร เมื่อกำหนดนโยบายให้ชัดเจนแล้วว่า ประเทศไทยจะไปทางไหน ต้องบูรณาการการทำงานนั้นๆ ให้เกิดผลสำเร็จเป็นเรื่องๆไปด้วย” นายอาทิตย์กล่าว

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอสซีบี เอกซ์

นอกจากนั้นภายใต้ข้อจำกัดงบประมาณ หากต้องการกระตุ้นการลงทุน รัฐบาลควรจะพิจารณาไปที่บริษัทขนาดใหญ่ในไทยที่มีศักยภาพในการลงทุน รัฐวิสาหกิจที่แข็งแรงที่สามารถลงทุนได้  หรือหันไปปรับลดงบประมาณในเรื่องใช้จ่ายให้น้อยลงแล้วไปเพิ่มเรื่องงบลงทุนให้มากกว่า 20% ของงบประมาณรายจ่ายขึ้น หรือหากที่สุดจะต้องกู้เงิน ต้องไม่กลัวที่จะกู้ แต่ต้องเป็นการกู้เพื่อมาลงทุนระยะยาว ที่จะมีรายได้กลับมา ไม่ใช่การกู้มาเพื่อเยียวยาเท่านั้น