นอนแบงก์ หั่นราคา20% ตัดขายลูกหนี้ค้างเกิน 5 ปี

03 ต.ค. 2566 | 16:00 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ต.ค. 2566 | 16:00 น.

แบงก์เจ้าหนี้เทขายลูกหนี้เอ็นพีแอล กว่า 2 แสนล้านบาท จับตาช่วงที่เหลือ คาดเปิดประมูลหนี้อีกกว่า 1 แสนล้านบาท กดราคาขายต่ำลง นอนแบงก์ยอมลดราคา 20% ตัดขายลูกหนี้เช่าซื้อ ที่ค้างชำระนานเกิน 5 ปีออกจากพอร์ต

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) ณ ไตรมาส 2 ปี 2566 มียอดคงค้าง  1,131,021 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15,169 ล้านบาทหรือ 1.36% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) มียอดคงค้าง 492,303 ล้านบาท ลดลง 35,646 ล้านบาทจากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการที่สถาบันการเงินได้ขายหนี้ NPL ออกไปค่อนข้างสูง

นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) หรือ CHAYO เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ประมูลขายออกแล้ว 1.4 แสนล้านบาท จากยอดหนี้ที่ถูกนำออกมาประมูลขายรวมกว่า 2 แสนล้านบาท โดยบริษัทรับซื้อหนี้เข้ามาแล้ว 7,000 ล้านบาทจากเป้าทั้งปี 12,000 ล้านบาท ประกอบด้วยลูกหนี้เช่าซื้อ บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อส่วนบุคคลประเภทหมุนเวียน (Revolving personal loan) เงินกู้ทั่วไปหรือ ดิจิทัล โลน

นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด(มหาชน)

ส่วนช่วงที่เหลือคาดว่า สถาบันการเงินเจ้าหนี้จะเปิดประมูลขายลูกหนี้อีก 50,000-100,000 ล้านบาท ซึ่งบริษัทจะรับซื้ออีกราว 5-6 พันล้านบาท โดยรวมปีนี้มีลูกหนี้ถูกนำออกประมูลขายสูงกว่าปีก่อนอยู่ที่ 1.31 แสนล้านบาท บริษัทรับซื้อได้ 1.1 หมื่นล้านบาท โดยปี 2564 ลูกหนี้ประมูลขายประมาณ 1.6 แสนล้านบาท บริษัทรับซื้อได้ราว 1.5-1.6 แสนล้านบาท 

ทั้งนี้คาดว่า สิ้นปีพอร์ตรับซื้อหนี้จะอยู่ที่ประมาณกว่า 9 หมื่นล้านบาทจากปัจจุบันอยู่ที่ 87,000 ล้านบาท, พอร์ตรับจ้างติดตามทวงถามหนี้ราว 10,000 ล้านบาท, พอร์ตสินเชื่อของบริษัทกว่า 850 ล้านบาท และธุรกิจส่งคนเข้าโรงงานหรือจัดหางาน (คนงาน) โดยเป้ารายได้ทั้งปีจาก 4 ธุรกิจรวมประมาณ 700-880 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโต 25%

ยอดคงค้างสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ตามการจัดชั้น

ส่วนกรณีที่ธปท.จะออกมาตรการแก้หนี้เรื้อรัง (Persistent Debt: PD) ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567 นายสุขสันต์กล่าวว่า เบื้องต้นอาจไม่กระทบต่อผลจัดเก็บรายได้ของบริษัท เพราะรับซื้อลูกหนี้มาในราคาถูกอยู่แล้ว (Discount) แต่แนวโน้มอาจจะเสียโอกาสด้านเรียกเก็บรายได้ สำหรับหนี้ก้อนใหม่ที่จะรับซื้อเข้ามาในอนาคต ส่วนตัวเป็นห่วงประชาชนที่ต้องการสินเชื่อต่อยอด เพราะหากธนาคารพาณิชย์เข้มงวด หรือนอนแบงก์ไม่เข้ามาช่วยปล่อยกู้ประชาชนอาจต้องหันไปพึ่งหนี้นอกระบบแทน

นายเมธ์ ปุ่มเป้า กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีดเดอร์ กรุ๊ป จำกัดในฐานะนายกสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจทวงหนี้ไทยกล่าวว่า ภาพรวมการแข่งขันของธุรกิจรับซื้อหนี้ปีนี้ไม่สูงมาก เนื่องจากมีปริมาณหนี้เอ็นพีแอลนำออกมาประมูลขายจำนวนมาก โดยเฉพาะธุรกิจนอนแบงก์/ลีสซิ่งที่นำลูกหนี้ออกขายเป็นครั้งแรกจำนวนหลายราย ทำให้ราคาขายหนี้ต่ำลงราว 20% จากปีก่อนๆ เข้าใจว่า ส่วนหนึ่งที่นำหนี้ออกขาย เพราะมีมูลหนี้สะสมมานาน โดยหนี้มีอายุเกิน 5 ปี

นายเมธ์ ปุ่มเป้า กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีดเดอร์ กรุ๊ป จำกัด

ดังนั้นบริษัทจึงสามารถรับซื้อหนี้ได้ในราคาต้นทุนที่ต่ำ โดยช่วง 7 เดือนของปี 2566 บริษัทรับซื้อหนี้เข้ามาแล้วเกือบ 6,000 ล้านบาท และปฎิเสธการซื้อใน 2 ไตรมาสที่ผ่านมากว่า 7,000 ล้านบาท พอร์ตหนี้รวมปัจจุบันมีอยู่กว่า 64,000 ล้านบาท แบ่งเป็นพอร์ตรับจ้างติดตามทวงถามกว่า 50,000 ล้านบาทและพอร์ตรับซื้อหนี้เอ็นพีแอลกว่า 14,000 ล้านบาท

สำหรับผลการเรียกเก็บหนี้ 7 เดือนปีนี้ พอร์ตรับจ้างติดตามหนี้เฉลี่ยต่อเดือนเรียกเก็บได้อยู่ที่ 353 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.62% จากทั้งปีก่อนอยู่ที่ 328 ล้านบาท ขณะที่พอร์ตรับซื้อหนี้เรียกเก็บได้เพิ่ม 20.54% เป็นจำนวน 8.8 ล้านบาท จากปีก่อนทั้งปีอยู่ที่ 7.3 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งยอดเรียกเก็บหนี้ที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากจำนวนลูกหนี้ที่เพิ่มขึ้นทั้ง 2 พอร์ต แต่มูลหนี้ที่รับซื้อเข้ามาใหม่ในปีนี้ จะมีผลเรียกเก็บในอีก 1 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทจะมีพอร์ตรถยนต์ในสัดส่วน 45% ส่วนบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีอยู่ 55% ส่วนใหญ่ลูกหนี้ที่รับซื้อปีนี้เป็นลูกหนี้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์

สำหรับสินเชื่อบัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคลนั้น นำออกขายน้อย เข้าใจว่า กลุ่มนอนแบงก์ ส่วนหนึ่งได้ทยอยขายลูกหนี้มาก่อนหน้าแล้วและระยะหลังผู้ประกอบการนอนแบงก์เข้มงวดปล่อยสินเชื่อด้วย จึงทำให้การแข่งขันปีนี้ก็ไม่สูงเหมือนปีก่อน และทำให้สามารถรับซื้อหนี้ได้ในราคาที่ต่ำ โดยช่วงที่ผ่านรับซื้อหนี้มาแล้วเกือบ 6,000 ล้านบาท ใช้เงินไป 191 ล้านบาทจากงบประมาณรับซื้อหนี้ทั้งปี 210 ล้านบาท ช่วงที่เหลือคาดว่า จะมีลูกหนี้ออกสู่ตลาดอีกมาก แต่บริษัทเหลืองบรับซื้อเพียง 20 ล้านบาทเท่านั้น

“ภาพรวมการเรียกเก็บหนี้ปีนี้น่าจะเติบโต 15% ต่อปี แบ่งเป็นพอร์ตรับจ้างทวงถามหนี้โต 5% และพอร์ตที่รับซื้อหนี้มาบริหารเองจะเติบโตกว่า 30% เรามีลูกค้ารายใหม่เข้ามาว่าจ้างเพิ่ม ตั้งเป้ารายได้ปีนี้ 1,000 ล้านบาทจากปีที่แล้ว 840 ล้านบาท โดยคาดว่า จะมาจากการเรียกเก็บหนี้พอร์ตที่ซื้อมาได้มากขึ้น” นายเมธ์กล่าว

ด้านแหล่งข่าวจากสถาบันการเงินระบุว่า ปัจจุบันพบว่า นอนแบงก์มีการดึงลูกหนี้ที่ค้างชำระค่างวด2 เดือนกลับไปเพื่อตัดขายทิ้ง แม้จะขายได้ในราคาไม่สูงก็ตาม ซึ่งแนวโน้มค่ายลีสซิ่ง มีโอกาสจะหันไปดำเนินธุรกิจปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลแทนเช่าซื้อ โดยจะดำเนินธุรกิจในลักษณะปล่อยวงเงินให้ลูกค้า เพื่อจัดหาหรือซื้อรถยนต์เอง เนื่องจากการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อภายใต้กำกับของธปท.มีข้อจำกัด

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,926 วันที่ 28 - 30 กันยายน พ.ศ. 2566