ลงทุนในหุ้นกู้ต้องรู้จัก"อันดับเครดิต"

21 ก.ย. 2566 | 07:39 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.ย. 2566 | 07:41 น.

ความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออกสะท้อนโดยอันดับเครดิต (Credit rating ) อันดับเครดิตบอกอะไรบ้าง และความแตกต่างระหว่างอันดับเครดิตผู้ออก กับอันดับเครดิตหุ้นกู้ อันไหนบอกความเสี่ยงได้ชัดเจนกว่า หาคำตอบได้ที่นี่

 

หุ้นกู้ เป็นเครื่องมือหนึ่งในการกู้ยืมเงินของธุรกิจเอกชน โดยผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยตามที่กำหนดไว้ตลอดระยะเวลาการกู้ยืม และเมื่อครบกำหนดอายุก็จะได้รับเงินต้นคืน แต่ผู้ลงทุนอาจไม่ได้รับดอกเบี้ยหรือเงินต้นตามที่กำหนดหากผู้ออกผิดนัดชำระ ซึ่งความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระถือเป็นความเสี่ยงหลักที่สำคัญที่สุดของการลงทุนในหุ้นกู้

โอกาสในการผิดนัดชำระของหุ้นกู้จะมากหรือน้อยขึ้นกับความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออกที่สะท้อนโดยอันดับเครดิต หรือ Credit rating โดยอันดับเครดิตยิ่งสูง ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ยิ่งต่ำ

อันดับเครดิต AAA คืออะไร

อันดับเครดิตแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่ม Investment grade ที่มีอันดับเครดิต AAA เป็นอันดับเครดิตสูงสุดที่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือจะจัดให้แก่ตราสารหนี้ หรือองค์กร อันดับรองลงมาคือ AA+ AA AA- A+ A A- BBB+ BBB และ BBB- และอีกกลุ่มคือ Speculative grade ที่เรียงลำดับจาก BB+ BB BB- B+ B B- CCC+ CCC CCC- CC C จนถึงอันดับเครดิต D ซึ่งเป็นอันดับต่ำสุดที่หมายถึงสภาวะผิดนัดชำระหนี้ ดังนั้น อันดับเครดิต AAA จึงแสดงถึงความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ต่ำที่สุด
 

หุ้นกู้ที่มีอันดับเครดิต AAA กับพันธบัตรรัฐบาล มีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระเท่ากันหรือไม่

การจัดอันดับเครดิตจะแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ ระดับสากล (Global Scale Rating) และระดับประเทศ (National Scale Rating) โดยอันดับเครดิตระดับสากลเป็นการประเมินความสามารถในการชำระหนี้โดยเปรียบเทียบกับหุ้นกู้หรือผู้ออกในประเทศต่างๆ ทั่วโลก จึงเป็นการประเมินที่อยู่บนเกณฑ์เดียวกันทั่วโลก ในขณะที่อันดับเครดิตระดับประเทศเป็นการประเมินความสามารถในการชำระหนี้โดยเปรียบเทียบกับหุ้นกู้หรือผู้ออกภายในประเทศนั้นๆ เกณฑ์ที่ใช้อ้างอิงจึงอาจต่างกัน เปรียบได้กับอายุเฉลี่ยของคนไทยที่ 77 ปี นายเอกอายุ 79 ปี ก็ถือว่าเป็นผู้ชายไทยที่อายุยาวกว่าค่าเฉลี่ยแล้ว ในขณะที่อายุเฉลี่ยของคนญี่ปุ่นที่ 82 ปี นายเอกก็ยังไม่ถือว่ามีอายุยาวกว่าค่าเฉลี่ยคนญี่ปุ่น

โดยส่วนใหญ่หุ้นกู้ที่เสนอขายในประเทศมักจัดอันดับเครดิตระดับประเทศ สำหรับบริษัทจัดอันดับเครดิตในประเทศไทยที่รู้จักกันทั่วไป ได้แก่ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด และบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งพันธบัตรรัฐบาลที่เสนอขายในประเทศในสกุลเงินท้องถิ่นของประเทศจะถือว่ามีอันดับเครดิตสูงที่สุด คือ AAA เนื่องจากรัฐบาลมีอำนาจในการเก็บภาษีเพื่อชำระคืนเงินต้นได้ ส่วนหุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัทเอกชนซึ่งไม่ได้มีอำนาจเช่นเดียวกับรัฐบาล แม้จะมีอันดับเครดิตสูงสุด AAA ก็มีโอกาสผิดนัดชำระสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ AAA จึงให้อัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋วที่สูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลที่อายุเท่ากัน

 

แต่ถ้ารัฐบาลและบริษัทเอกชนจะออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้เสนอขายต่างประเทศ ก็ต้องจัดอันดับเครดิตระดับสากลที่เป็นการประเมินความสามารถในการชำระคืนหนี้ที่อยู่บนเกณฑ์เดียวกันทั่วโลก ตัวอย่าง บริษัทจัดอันดับเครดิตระดับสากลที่เป็นที่รู้จักทั่วไป ได้แก่ Moody’s, Standard & Poor’s และ Fitch Ratings โดยรัฐบาลไทยได้รับการจัดอันดับเครดิตระดับสากลจากบริษัท Standard & Poor’s ที่ BBB+ เช่นเดียวกันกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่มีอันดับเครดิตระดับสากลที่ BBB+ ในขณะที่ได้รับอันดับเครดิตระดับประเทศที่ AAA จากบริษัท Standard & Poor’s

อันดับเครดิตผู้ออก (Issuer rating) อาจแตกต่างจากอันดับเครดิตหุ้นกู้ (Issue rating) ได้

อันดับเครดิตผู้ออกเป็นการสะท้อนความน่าเชื่อถือด้านเครดิตโดยรวมของบริษัทที่พิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น ลักษณะการดำเนินธุรกิจของบริษัท ผลประกอบการ รวมถึงปัจจัยภายนอกที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัท

สำหรับอันดับเครดิตของหุ้นกู้ เป็นการพิจารณาจากปัจจัยเฉพาะตัวของหุ้นกู้เพิ่มเติมขึ้นจากอันดับเครดิตบริษัท เช่น ลำดับสิทธิเรียกร้องในการชำระหนี้ของหุ้นกู้ว่ามีลักษณะเป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิ/ไม่ด้อยสิทธิ หรือเป็นหุ้นกู้มีประกัน/ไม่มีประกัน หรือ สิทธิในการเลื่อนจ่ายดอกเบี้ย เป็นต้น

ดังนั้นถ้าหุ้นกู้มีการจัดอันดับเครดิตทั้งของบริษัทและของหุ้นกู้ จากที่กล่าวมา จะเห็นว่าอันดับเครดิตหุ้นกู้จะสะท้อนความเสี่ยงการผิดนัดชำระได้ชัดเจนกว่าอันดับเครดิตองค์กร

อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลงได้

อันดับเครดิตสามารถเปลี่ยนแปลงได้ขึ้นกับหลายปัจจัย ได้แก่ ผลการดำเนินงานของบริษัท แนวโน้มเศรษฐกิจภายในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจกระทบต่อความสามารถในการดำเนินกิจการของบริษัท เช่น โควิดที่เกิดขึ้นในปี 2020 ส่งผลให้อันดับเครดิตของหลายบริษัทโดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว และภาคการขนส่ง ถูกลดระดับลง

กล่าวโดยสรุป อันดับเครดิตเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยสะท้อนโอกาสหรือความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ ผู้ลงทุนควรเลือกลงทุนในหุ้นกู้ที่มีระดับความเสี่ยงที่สอดคล้องกับความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงของตน ที่สำคัญ หัวใจของการลงทุนคือต้องมีการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน

 

ลงทุนในหุ้นกู้ต้องรู้จัก\"อันดับเครดิต\"