โมร็อกโกไม่หวั่นแผ่นดินไหว หวังจัดประชุมเวิลด์แบงก์-IMF เดือน ต.ค.ตามแผน

12 ก.ย. 2566 | 07:07 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.ย. 2566 | 07:31 น.

แม้จะเพิ่งผ่านเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 2,800 คนและการค้นหาเหยื่อภัยพิบัติครั้งนี้ยังคงเดินหน้าอยู่ แต่ทางการโมร็อกโก ก็ยังหวังว่าจะได้จัดประชุมประจำปีของเวิลด์แบงก์และ IMF ที่เมืองมาร์ราเกช ตามแผนที่วางไว้แล้ว

 

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า เจ้าหน้าที่ของ โมร็อกโก แสดงความหวังว่า การประชุมประจำปีของสภาผู้ว่าการธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) และ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จะยังคงมีขึ้นตามกำหนดเดิม ซึ่งเตรียมจัดขึ้นที่เมือง มาร์ราเกช ในเดือนตุลาคม 2566 นี้ แม้ว่าโมร็อกโก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เมืองมาร์ราเกช จะเพิ่งเผชิญเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ และอาฟเตอร์ช็อกเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ในการประชุมดังกล่าว จะมีพิธีลงนามอย่างเป็นทางการให้ "ประเทศไทย" เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีของสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและ IMF ในเดือนต.ค.2569 ตามมติร่วมของธนาคารโลกและ IMF ที่มีการประกาศไว้เมื่อวันที่ 19 เม.ย.2566 ด้วย

การประชุมประจำปีของสภาผู้ว่าการเวิลด์แบงก์และ IMF ถือเป็นการประชุมด้านเศรษฐกิจการเงินที่สำคัญที่สุดของโลก โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจากประเทศสมาชิกของธนาคารโลกกว่า 189 ประเทศ และผู้ว่าการธนาคารกลางจากประเทศสมาชิก IMF อีกกว่า 190 ประเทศ รวมถึงผู้บริหารองค์กรและสถาบันการเงินระหว่างประเทศทั้งภาครัฐและเอกชน ภาคประชาสังคมและนักวิชาการ

การประชุมประจำปีของสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศในปีนี้ (2566) กำหนดจัดที่เมืองมาร์ราเกช ประเทศโมร็อกโก

วัตถุประสงค์ของการประชุมคือ เพื่อทำการหารือร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกธนาคารโลกและ IMF ถึงสถานการณ์เศรษฐกิจการเงินของโลก ปัญหาเร่งด่วนที่เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญ แนวโน้มเศรษฐกิจโลก การรักษาเสถียรภาพการเงินโลก การขจัดความยากจน การสร้างงาน การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ตลอดจนการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ส่วนพิธีลงนามอย่างเป็นทางการให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในเดือน ต.ค.2569 นั้น เป็นไปตามมติร่วมของธนาคารโลกและ IMF ที่ประกาศไว้ในปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ในส่วนของการอัปเดตข้อมูลแผ่นดินไหวนั้น กระทรวงมหาดไทยของโมร็อกโกเปิดเผยว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดของโมร็อกโก ได้เพิ่มขึ้นเป็น 2,497 ราย ขณะที่มีผู้บาดเจ็บ 2,476 รายเมื่อวันอาทิตย์ (10 ก.ย.) ก่อนจำนวนผู้เสียชีวิตจะขยับเพิ่มขึ้นเป็น 2,862 รายในวันอังคาร (12 ก.ย.) ขณะยอดผู้บาดเจ็บเพิ่มเป็น 2,562 ราย

ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวโมร็อกโก ขยับเพิ่มขึ้นเป็น 2,862 รายในวันอังคาร (12 ก.ย.) ขณะยอดผู้บาดเจ็บเพิ่มเป็น 2,562 ราย

เจ้าหน้าที่กู้ภัยจากนานาประเทศ รวมทั้งสเปน สหราชอาณาจักร กาตาร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้เดินทางไปยังโมร็อกโก เพื่อร่วมปฏิบัติการกู้ภัยและบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวครั้งนี้แล้ว

เหตุแผ่นดินไหวดังกล่าวเกิดขึ้นในคืนวันศุกร์ (8 ก.ย.) เวลา 23.11 น.ตามเวลาท้องถิ่น หรือเช้าตรู่วันเสาร์ตามเวลาประเทศไทย โดยมีความรุนแรง 6.8 แมกนิจูด ซึ่งเป็นความรุนแรงที่สุดในรอบกว่า 100 ปีของโมร็อกโก ทำให้ประชาชนมากกว่า 300,000 คนไร้ที่อยู่อาศัย และมีผู้เสียชีวิตมากที่สุดนับตั้งแต่ปีค.ศ.1960 (พ.ศ.2503) ซึ่งในปีนั้น เกิดเหตุแผ่นดินไหวในโมร็อกโก ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 12,000 คน