"SRS" จ่อขาย IPO 40 ล้านหุ้น เข้าตลาด mai ช่วงปลายปี 66

21 ก.ค. 2566 | 05:55 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.ค. 2566 | 08:06 น.

บริษัท สิริซอฟต์ จำกัด (มหาชน) หรือ SRS ผู้ประกอบธุรกิจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และให้บริการออกแบบพัฒนาซอฟต์แวร์ เตรียมเสนอขาย IPO กว่า 40 ล้านหุ้น พร้อมเข้าจดทะเบียนใน ตลาด mai ปลายปีนี้

นายสิริวัฒน์ ธนุรเวท ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิริซอฟต์ จำกัด (มหาชน) หรือ SRS เปิดเผยว่า ทาง "SRS" อยู่ระหว่างเตรียมเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน (IPO) จำนวน 40 ล้านหุ้น คิดเป็น 25% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออก และเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทภายหลัง IPO มูลค่าที่ตราไว้ (Par value) 0.50 บาทต่อหุ้น

โดยเข้าจดทะเบียนใน ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) หมวดธุรกิจ (Sector) เทคโนโลยี (TECH) และมีบริษัท ไพโอเนีย แอดไวเซอรี่ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน โดยคาดว่าจะดำเนินการได้ทันภายในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งทางบริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 50% ของกำไรสุทธิตามงบการเงินเฉพาะกิจการ

วัตถุประสงค์ในการระดมทุนของ SRS

  • ขยายทีมเพิ่มโอกาสในการเติบโต โดยใช้สรรหาและพัฒนาบุคลากรในการพัฒนาระบบ หรือซอฟต์แวร์ รวมถึงการขยายพื้นที่สำนักงาน
  • เพิ่มศักยภาพในการให้บริการ นำไปใช้พัฒนาและปรับปรุงซอฟต์แวร์สำหรับใช้งานภายในองค์กร
  • ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการขยายธุรกิจ

นายสิริวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทาง SRS เป็นผู้ประกอบธุรกิจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศโดยใช้ DevOps Culture เป็นแนวคิด และให้บริการออกแบบพัฒนาซอฟต์แวร์ โดยใช้สถาปัตยกรรมแบบ Microservices ในการพัฒนา เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว รองรับการแข่งขัน

โดยบริษัทให้บริการลูกค้าตั้งแต่เริ่มต้นการเข้าไปช่วยวาง framework อบรมกับทีมพัฒนาของลูกค้าให้พัฒนาทีมให้เป็น DevOps โดยลูกค้าสามารถเลือกได้ว่าจะพัฒนาเอง หรือจะให้สิริซอฟต์ พัฒนาให้ หรือพัฒนาร่วมกัน

สำหรับ DevOps คือการผสานสร้างการทำงานแบบไร้รอยต่อระหว่างทีม Dev (Software Development Team) ที่ต้องการพัฒนาแอปพลิเคชันให้ตอบสนองต่อธุรกิจโดยใช้มุมมองของธุรกิจเป็นตัวตั้ง ออกซอฟต์แวร์ให้ทันต่อความต้องการที่รวดเร็วของตลาด

แต่ก็ยังต้องมีความเสถียร มีประสิทธิภาพ และถ้ามีความผิดพลาดจะต้องเข้าถึงปัญหาได้เร็วที่สุด ตามมาตรฐานของทีม Ops (IT Operations Team) รวมถึงตรวจสอบเรื่องความปลอดภัย เพื่อส่งมอบงานให้กับลูกค้าได้อย่างถูกต้อง ทันเวลา

ขณะที่ Microservices เป็นสถาปัตยกรรมในการออกแบบซอฟต์แวร์ ที่เน้นการแบ่งการทำงานเป็นส่วนย่อยๆ ตามลักษณะของธุรกิจแล้วค่อยนำมาผสานรวมกัน เพื่อให้ง่ายต่อการพัฒนา (Development) การนำไปใช้ (Deployment) และการดูแล (Maintenance) อาทิ แอปพลิเคชัน Online Shopping หรือใช้ในการพัฒนา Feature & Function ใหม่ของโปรแกรมด้วยภาษาอื่น ก็สามารถใช้ภาษาที่แตกต่างกันในการเขียน Microservices ได้

สัดส่วนรายได้ตามลักษณะการให้บริการ แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่

  • รายได้จากการบริการ เป็นสัดส่วนรายได้หลักของบริษัท คิดเป็น 62.5% ในปี 2565
  • รายได้จากการขาย คิดเป็น 37.2 % ในปี 2565

ผลการดำเนินการ 3 ปีย้อนหลัง (2563 - 2565)

SRS เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) 137.63% จากลูกค้าเก่า ได้แก่ ลูกค้ากลุ่มธนาคารและการเงิน ค้าปลีก ภาครัฐ และกลุ่มลูกค้าเอกชนที่ไว้วางใจใช้บริการต่อเนื่องประกอบกับการขยายตลาดเข้าสู่ลูกค้ารายใหม่เพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตามในปัจจุบันความต้องการด้านซอฟต์แวร์ หรือบริการดูแลระบบที่เป็น High Code ยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่ผู้ให้บริการในตลาดยังมีจำนวนไม่มากพอ ซึ่ง High Code คือสิ่งที่ "สิริซอฟต์" ถนัด

ซึ่งสามารถพัฒนาโปรแกรมได้ตาม requirements ที่ลูกค้าต้องการ ฟังก์ชั่นที่หลากหลาย รองรับความเฉพาะตัวของธุรกิจ หรือระบบที่มีความซับซ้อนในทำงาน

หรือระบบที่ต้องการเชื่อมต่อกับระบบรอบๆ ข้างเพิ่มเติม บางครั้งระบบเหล่านี้ก็ใช้เทคโนโลยีที่แตกต่างกัน ซึ่งต้องใช้ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ที่ยืดหยุ่น และพัฒนาให้ตอบโจทย์ในประสิทธิภาพ และความเร็วที่ธุรกิจต้องการ