บสย. โชว์ 6 เดือน ค้ำประกันช่วยเอสเอ็มอีทะลุ 6.7 หมื่นล้าน

20 ก.ค. 2566 | 16:58 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.ค. 2566 | 20:31 น.

บสย. โชว์ผลงานค้ำประกันสินเชื่อ 6 เดือน อนุมัติกว่า 6.7 หมื่นล้านบาท เติมสภาพคล่องเอสเอ็มอี 5.1 หมื่นราย ชี้ครึ่งปีหลังเดินเครื่อง 3 เร่ง ขับเคลื่อน Digital Technology

นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ผลดำเนินงาน บสย. 6 เดือนแรกของปี 2566 ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย โดยสามารถอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อวงเงินรวม  67,987 ล้านบาท 

นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

ทั้งนี้ ช่วยเอสเอ็มอีได้สินเชื่อ 51,427 ราย สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 280,786 ล้านบาท สร้างสินเชื่อสู่ระบบ 76,049 ล้านบาท รักษาการจ้างงานรวม 493,552 ตำแหน่ง ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ  4 โครงการ ได้แก่

  1. โครงการค้ำประกันสินเชื่อดอกเบี้ยถูก (พ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟู ระยะที่ 2) วงเงิน 30,280 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 45% ของวงเงินรวม ช่วย SMEs 5,450 ราย
  2. โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. SMEs เข้มแข็ง (PGS 10) วงเงิน 24,766 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 36% ของวงเงินรวม ช่วย SMEs 40,254 ราย
  3. โครงการค้ำประกันสินเชื่อรายสถาบันการเงิน ระยะที่ 7 (BI7) วงเงิน 8,634 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 13% ของวงเงินรวม  ช่วย SMEs 4,453 ราย
  4. โครงการค้ำประกันสินเชื่ออื่นๆ (PGS Renew และ PGS 5 ขยายเวลา) วงเงิน 4,307 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 6% ของวงเงินรวม  ช่วย SMEs 1,702 ราย

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการค้ำประกันสินเชื่อสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่

  1. ภาคบริการ สัดส่วน 31% ได้แก่ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ภัตตาคาร ธุรกิจขนส่ง ธุรกิจโรงแรมและหอพัก ธุรกิจท่องเที่ยว และ ธุรกิจแวร์เฮ้าส์
  2. ภาคเกษตรกรรม สัดส่วน 11% ได้แก่ ธุรกิจผัก-ผลไม้  ธุรกิจชา กาแฟ  ธุรกิจข้าว และพืชไร่ ธุรกิจสินค้าเกษตร ธุรกิจปศุสัตว์ และธุรกิจประมง
  3. ภาคการผลิตและสินค้าอื่น สัดส่วน 10% ได้แก่ ธุรกิจค้าวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจค้าปลีก ตลาดสด และแผงลอย ธุรกิจค้าของเก่า ธุรกิจจำหน่ายมือถือและอุปกรณ์ ธุรกิจการค้า ธุรกิจการผลิตอื่นๆ

ส่วนการดำเนินงาน บสย. ครึ่งปีหลัง ยกระดับค้ำประกันด้วย Digital Technology สู่การเป็น SMEs Gateway ตามแนวทาง TCG Fast & First  รวดเร็ว รอบคอบ ที่หนึ่งในใจ SMEs ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย ช่วยผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งทุนในระบบให้ได้มากที่สุดในช่วงฟื้นประเทศ โดยเน้นการทำงาน  3 เร่ง  “เร่งค้ำ เร่งพัฒนา เร่งยกระดับ”

1. เร่งผลักดันการค้ำประกันสินเชื่อ ได้แก่

  • มีวงเงินค้ำประกันสินเชื่อโครงการ PGS 10 รองรับราว 25,000 ล้านบาท
  • โครงการค้ำประกันสินเชื่อดอกเบี้ยถูก (พ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟู ระยะที่ 2) มีวงเงินรองรับราว 50,000 ล้านบาท
  • โครงการค้ำประกันสินเชื่อรายสถาบัน ระยะที่ 7 มีวงเงินรองรับราว 15,000 ล้านบาท

2. เร่งพัฒนาโครงการพัฒนานวัตกรรม บสย. การให้บริการลูกค้าผ่านช่องทาง Digital Platform และพัฒนา Line @tcgfirst เพื่อการเข้าถึงบริการใหม่ อาทิ การจองคิวปรึกษา “หมอหนี้” ผ่าน Line @tcgfirst ตลอด 24 ชั่วโมง

3. เร่งยกระดับการเข้าถึงบริการให้คำปรึกษา หมอหนี้ บสย. โครงการพัฒนารูปแบบการให้คำปรึกษาทางการเงิน ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs (บสย. F.A. Center) และโครงการการให้บริการ Credit Mediator เพื่อให้ SMEs เข้าถึงสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น