'ศิธา'เชื่อ'พิธา'ไม่ผ่านโหวตนายกรัฐมนตรี 8 พรรคร่วมต้องเปลี่ยนคนใหม่

13 ก.ค. 2566 | 13:30 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.ค. 2566 | 17:30 น.

“ศิธา ทิวารี” เชื่อ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ไม่ผ่านโหวตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ชี้ 8พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลต้องเปลี่ยนแคนดิเดคตคนใหม่ ไทยสร้างไทยพร้อมโหวตให้ 3 รายชื่อจากเพื่อไทย

วันนี้ 13 กรกฏาคม 2566  ที่ประชุมร่วมรัฐสภาลงมติโหวตนากรัฐมนตรีคนที่ 30 โดย 8 พรรคร่วมเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจิริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล นั้น ล่าสุดน.ต.ศิธา ทิวารี แกนนำพรรคไทยสร้างไทย ซึ่งเดินทางมาร่วมสังเกตการณ์การประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่30 เปิดเผยว่า ส่วนตัวประเมินการลงมติเลือกนายกฯวันนี้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล จะไม่ผ่านการโหวตเลือกด้วยคะแนนเสียง 376 อย่างแน่นอน เนื่องจากส.ว.เป็นผู้คุมกุญแจที่จะเปิดทางให้ ส.ส.ในสภาเข้าสู่ทำเนียบรัฐบาล 

น.ต.ศิธา ระบุว่า หลังจากนี้หากนายพิธาไม่ผ่านการโหวตเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี ทาง8พรรคการเมืองร่วมตั้งรัฐบาล ก็ต้องกลับไปหารือว่าจะเปลี่ยนตัวบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ส่วนตัวในฐานะพรรคไทยสร้างไทย มีจุดยืนชัดเจนว่าให้พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยต้องไปตกลงกันว่า จะเสนอชื่อใครอีกครั้ง ส่วนพรรคไทยสร้างไทยจะโหวตแน่นอนซึ่งพรรคเพื่อไทยได้วางแคนดิเดตนายกฯไว้3คนซึ่งจะต้องมาดูอีกทีว่า ส.ว.จะโหวตให้ผ่านหรือไม่ในการโหวตเลือกครั้งหน้า
 

เมื่อถามว่าอาจจะถึงขั้นให้พรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 8 พรรค จำเป็นต้องให้พรรคการเมืองใดพรรคหนึ่งออกจากพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ เพื่อให้ ส.ว.ยอมรับบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่30 น.ต.ศิธา กล่าวว่า หากถ้าเป็นไปในทิศทางนี้มองว่าในขั้วรัฐบาลพรรคเดิมจะเข้ามายุ่งเหยิง ซึ่งแนวคิดในการแก้รัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระยืดเยื้อออกไปอีก

ส่วนหากมี ส.ส.หรือส.ว. มีการเสนอให้เลื่อนวันโหวตเลือกนายกฯออกไป ส่วนตัวมองว่าเป็นสิทธิ์ของรัฐสภา และสมาชิกก็จะต้องไปตกลงกันว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร แต่ส่วนตัวมองว่าการเปิดโหวตเลือกนายกฯ ครั้งนี้ให้เปิดโหวตครั้งแรกกันไปก่อน หากไม่สำเร็จรัฐสภามีอำนาจก็มีอำนาจกำหนดวันโหวตเลือกครั้งใหม่ อาจจะเป็นวันที่ 19 ก.ค.66 หรือวันอื่นก็ต้องมาโหวต

ส่วนประเด็นที่ ส.ว.และ ส.ส. หยิบยกเรื่องมาตรา 112 มาเป็นเงื่อนไขในการโหวตเลือกนายกฯ น.ต.ศิธา บอกว่า ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ม.112 เป็นกฎหมายซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการเลือกนายกรัฐมนตรีส่วนตัวมองว่าหากจะนำประเด็นนี้มา อภิปรายขยี้แบบนี้ในสภาไม่ได้เป็นผลดีกับใครโดยเฉพาะสถาบันหลักของประเทศ และไม่ควรอภิปรายในประเด็นนี้ อยากให้ทุกคนมองว่าเรากำลังเลือกและทำอะไรอยู่ เพราะการแก้ ม.112 เป็นเรื่องฝ่ายนิติบัญญัติไม่อยากให้นำมาโยงในการโหวตเลือกนายกฯ

นอกจากนี้ ยังได้ชี้แจงถึงประเด็น ที่คุณหญิงสุดารัตน์ลาออกจากตำแหน่งส.ส.บัญชีรายชื่อ เพื่อจะนำไปสู่การเลื่อนตำแหน่งจนให้ตนเองเข้ารับตำแหน่ง ส.ส.หรือไม่ น.ต.ศิธา ระบุว่า ส่วนตัวไม่ได้สนับสนุนให้ใครลาออกจนมาถึงลำดับของตนเอง เพราะตั้งแต่แรกในการกำหนดรายชื่อลำดับของ ส.ส.บัญชีรายชื่อภายในพรรค ตนเองก็ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวตั้งแต่แรก เพราะตนเองเพิ่งรู้ลำดับรายชื่อส.ส.บัญชีรายชื่อหลังจากที่พักส่งรายชื่อสมัครกลางดึก ซึ่งตนเองก็ทราบในวันนั้นว่าอยู่ลำดับที่ 5 ทั้งนี้ นายศิธา ย้ำว่า ไม่สนับสนุนให้ใครลาออกเพื่อตนเอง.