ตลาด “อีคอมเมิร์ซ” ไทยโตต่อเนื่อง พบผู้ใช้งานกว่า 41.5 ล้านคน

25 มิ.ย. 2566 | 20:16 น.
อัปเดตล่าสุด :25 มิ.ย. 2566 | 20:16 น.
2.7 k

ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS รายงานข้อมูลตลาด “อีคอมเมิร์ช” ชี้คนไทยกว่า 41.5 ล้านคนเข้าใช้งาน ระบุปี 65 มูลค่าใช้จ่าย 6.2 แสนล้านบาท คาดโตต่อเนื่องปีละ 6%

ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS รายงานผลการวิเคราะห์ข้อมูลตลาด E-Commerce (อีคอมเมิร์ซ) ของไทย ว่า ปัจจุบันคนไทยมากกว่าครึ่งมีการหรือเคยซื้อสินค้า/บริการผ่านตลาด E-Commerce โดยในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา จำนวนไทยมีผู้ใช้งานสูงขึ้นจาก 30.7 ล้านคนในปี 2562 มาอยู่ที่ 41.5 ล้านคนในปี 2566 โดยมีแรงผลักดันหลักมาจากการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ครอบคลุมประชากรไทยมากขึ้น

ทั้งนี้ ข้อมูลจากรายงาน eCommerce-Thailand  ได้ชี้ว่าตลาด E-Commerce ยังคงได้รับความนิยมจากคนไทยอย่างต่อเนื่องสะท้อนจากค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้า/บริการผ่านตลาด E-Commerce ที่สูงขึ้นเกือบ 3 เท่าตัวจากปีละ 2,970 บาทต่อคนในปี 2562 ขึ้นมาอยู่ที่ 8,840 บาทต่อคนในปี 2566

ตลาด “อีคอมเมิร์ซ” ไทยโตต่อเนื่อง พบผู้ใช้งานกว่า 41.5 ล้านคน

สำหรับ Bank Transfer, Credit/Debit Card และ E-Wallet คือ 3 รูปแบบการชำระเงินหลักที่ผู้บริโภคนิยมใช้งาน ขณะที่ COD หรือ Cash On Delivery มีสัญญาณที่ได้รับความนิยมลดลงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบัน Bank Transfer เป็นวิธีการที่ได้รับความนิยมสูงสุดคิดเป็น 32% ของมูลค่าตลาด E-Commerce

รองลงมาได้แก่ Credit/Debit Card และ E-Wallet ซึ่งมีสัดส่วนเท่ากันที่ 22% ขณะที่ COD มีสัดส่วน 17% ลดลง 5% จากปี 2562 สะท้อนว่าการชำระเงินแบบ COD เริ่มถูกแทนที่ด้วย Bank Transfer และ E-Wallet มากขึ้นในช่วง 5 ปีหลังสุด

ขณะที่มูลค่าตลาด E-Commerce ของไทย มีมูลค่ากว่า 6.2 แสนล้านบาทในปี 2565 และมีแนวโน้มจะเติบโตต่อเนื่องปีละ 6% ขึ้นไปอยู่ที่ 6.34-6.94 แสนล้านบาท ในระหว่างปี 2566-2567

โดยหมวดสินค้าที่ผู้บริโภคหันมาซื้อผ่านช่องทาง E-Commerce มากขึ้นในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ประกอบด้วย

1) กลุ่ม Personal & Household Care ซึ่งครอบคลุมสินค้าในหมวด Beauty และ Health อาทิ ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม เครื่องสำอาง วิตามิน อาหารเสริม และผลิตภัณฑ์สำหรับทำความสะอาดครัวเรือน ซึ่งมีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้นจาก 36,000 ล้านบาทในปี 2562 มาอยู่ที่ 139,000 ล้านบาทในปี 2565 โดยมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นจาก 17% เป็น 22% ในช่วงเวลาเดียวกัน

2) กลุ่ม Beverages ที่มีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้นจากราว 22,000 ล้านบาท มาอยู่ที่ 126,000 ล้านบาทในช่วงปี 2562-2566 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดที่มากขึ้น 2 เท่าเป็น 20% ในปี 2566

3) กลุ่ม Foods ที่มียอดขายเพิ่มขึ้นจาก 11,500 ล้านบาทในปี 2562 ขึ้นมาอยู่ที่ 55,000 ล้านบาทในปี 2566 โดยมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นจาก 6% เป็น 9% ในช่วงเวลาเดียวกัน ส่วนกลุ่ม Electronics พบว่าแม้ยอดขายจะขยายตัวตามตลาด E-Commerce ที่ใหญ่ขึ้นแต่กลับมีส่วนแบ่งตลาดในช่วง 5 ปีที่หลังที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญถึง 18%