สุญญากาศทางการเมือง ทุบตลาดหุ้นไทยทรุดต่อเนื่อง

25 มิ.ย. 2566 | 07:00 น.

ผ่านการเลือกตั้ง 2566 มาเดือนกว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยยังไม่ฟื้นตัว แม้มีช่วงดีดตัวรีบาวด์ "สุญญากาศทางการเมือง" ยังคงกดดันความเชื่อมั่นนักลงทุน หลังการเลือกตั้ง ดัชนี้ลดลงแล้วกว่า 55 จุด บนการซื้อขายที่เบาบางลง

แม้จะผ่านพ้นการเลือกตั้ง 2566 ที่พรรคก้าวไกล คว้าชัยชนะแบบไม้เดียวจบ ถือเป็นปรากฏการณ์ที่หลายคนคาดไม่ถึง แต่นักลงทุนไทยหลายคนอาจแปลกใจที่เราไม่เห็นสัญญาณบวกจากตลาดหุ้นไทยอย่างที่คาด นับเป็นครั้งแรกในหน้าประวัติศาสตร์ที่หลังประกาศผลเลือกตั้งแล้วตลาดหุ้นไทยขยับในฝั่งแดนลบ

แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับอานิสงส์จากการเปิดประเทศของจีน ราคาพลังงานที่ปรับตัวลง และอัตราเงินเฟ้อที่ไม่ได้สูงเหมือนก่อน แต่แรงเทขายจากต่างชาติก็ทำให้ตลาดหุ้นไทยผันผวนอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน นั่นแน่นอนว่าปัจจัยต่างๆ อาจมีส่วนอยู่บ้าง แต่หลายคนอาจลืมมองอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญนั้นคือ "เสถียรภาพทางการเมือง"

หากมาดูดัชนีของตลาดหุ้นไทยหลังเลือกตั้ง 2566 ต้องยอมรับว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองทั้งว่าที่นายกรัฐมนตรีอย่าง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ยังมีประเด็นการถือหุ้นสื่อ ประกอบกับท่าพรรคร่วมรัฐบาลอย่าง พรรคเพื่อไทย ในศึกชิงเก้าอี้ประธานสภาฯ รวมทั้งทิศทางนโยบายที่ยังไม่ชัดเจน ทำให้กดดันต่อความเชื่อของนักลงทุน อย่างต่อเนื่อง ในช่วงนี้เปรียบได้กับ "สุญญากาศทางการเมือง"

ล่าสุดดัชนีตลาดหุ้นเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 66 ดัชนีปิดที่ระดับ 1,505.52 จุด ลดลงจากเมื่อวันที่ 12 พ.ค. 66 ก่อนการเลือกตั้ง ดัชนีปิดที่ 1,561.35 จุด ร่วงลงกว่าช่วงก่อนการเลือกตั้งใหม่ๆ ถึง 55.79 จุดเลยทีเดียว รวมทั้งภาพรวมการซื้อขายก็ลดลงเกือบ 50% จากระดับ 57,109 ล้านบาท เหลือเพียง 33,000 ล้านบาท

ภาพประกอบ ดัชนีตลาดหุ้นไทย

ด้วยความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ลดลงคงต้องไปมองกันตามหลักเศรษฐศาสตร์จะพบว่า เครื่องยนต์ที่สำคัญต่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจมีอยู่ 4 เครื่องยนต์ ประกอบด้วย การบริโภคภายในประเทศ การลงทุนของภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ และการค้าระหว่างประเทศ

ซึ่งการที่รัฐบาลเก่าหมดวาระลง และรอการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จึงเปรียบเสมือนสุญญากาศ ที่เครื่องยนต์ที่สำคัญหนึ่งตัวหยุดทำงาน นั่นก็คือ  "การใช้จ่ายภาครัฐ"

เพราะถือเป็นเครื่องยนต์หลักที่ขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่มีความไม่แน่นอนจนทำให้ภาคเอกชนชะลอการลงทุนเพื่อรอท่าทีที่ชัดเจน จึงไม่แปลกที่ดัชนีในช่วงนี้จะปรับตัวลดลงจากความไม่ชัดเจนทางการเมือง

ด้านนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่า ตลาดหุ้นไทยยังคงได้รับแรงกดดันจากภาพการเมืองที่ไม่ชัดเจน โดยตั้งแต่ต้นปี 66 ดัชนี SET ปรับตัวลงไปกว่าเกือบ 10%

ขณะที่ตลาดหุ้นเอเชียบวก 3% ฉะนั้นภาพตลาดหุ้นไทยจากนี้ยังคงมีความผันผวน จนกว่าจะได้ตัวประธานสภาฯ และนายกรัฐมนตรี แนวโน้มตลาดหุ้นไทย ก็จะกลับมาปรับตัวขึ้นได้

ภาพประกอบ ดัชนีหุ้นไทยปรับตัว