แบงก์เข้มปล่อยกู้ รับความเสี่ยงยุคต้นทุนสูงขึ้น

21 มิ.ย. 2566 | 15:20 น.
อัปเดตล่าสุด :21 มิ.ย. 2566 | 17:32 น.

กสิกรไทยเผย เศรษฐกิจฟื้นตัวกระจุก ต้องเฟ้นลูกค้าที่มีศักยภาพ ปรับเงื่อนไขเข้ม ทั้งเพิ่มมาร์จิ้นกลุ่มเสี่ยง เน้นหลักประกัน ย้ำดูแลกลุ่มเปราะบางใกล้ชิด ด้านทีทีบีชี้แบงก์เร่งเคลียร์หนี้ก่อนปล่อยพอร์ตใหม่ เหตุ SM รวม NPL แตะ 6.36 แสนล้านบาท

ธนาคารแห่งประเทศ ไทย (ธปท.) รายงานยอดคงค้างสินเชื่อแก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Gross) ไม่รวมกิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย ไตรมาสแรกปี 2566 มีทั้งสิ้น 3.12 ล้านล้านบาท ลดลง 4.39% จาก 3.27 ล้านล้านบาทในช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเป็นสินเชื่อจัดชั้นปกติ 2.49 ล้านล้านบาท หดตัวลง 4.89% สินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) 3.88 แสนล้านบาท ลดลง 1.06% และสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) 2.47 แสนล้านบาทลดลง 4.39%

นายชัยยศ ตันพิสุทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคาร กสิกรไทยเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การเติบโตของเศรษฐกิจในลักษณะ K Shape ที่ฟื้นตัวไม่ทั่วถึงในแต่ละประเภทธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกที่ยังมีแรงกดดัน รวมถึงกำลังซื้อของประชาชนไทยที่ยังไม่ฟื้นตัวดี ขณะที่ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้การปล่อยสินเชื่อใหม่อาจทำได้เฉพาะกลุ่ม

นายชัยยศ ตันพิสุทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคาร กสิกรไทย

ลูกหนี้ธุรกิจที่มีศักยภาพ

ขณะที่ลูกค้าผู้ประกอบการยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัวค่อนข้างมาก รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัย ซึ่งธนาคารปรับดอกเบี้ยเงินกู้ขึ้น เพื่อให้สอดรับกับการปรับขึ้นของดอกเบี้ยนโยบายอย่างรอบคอบและระมัดระวัง รวมทั้งยังคงให้ความสำคัญกับการดูแลและช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้ลูกค้ารายย่อยและกลุ่มเปราะบางอย่างต่อเนื่อง

แบงก์เข้มปล่อยกู้ รับความเสี่ยงยุคต้นทุนสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เหลือของปีนี้ แนวโน้มต้องการสินเชื่อเอสเอ็มอียังคงเพิ่มขึ้น เพื่อใช้ผลิตสินค้าคงคลังและลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ โดยเพิ่มเกือบทุกสาขาธุรกิจ โดยเฉพาะภาคการผลิตและธุรกิจบริการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว 

ขณะที่ความต้องการสินเชื่อภาคเกษตรมีแนวโน้มลดลงจากปัจจัยเฉพาะ เช่น ธุรกิจข้าวที่เป็นฤดูเพาะปลูก ส่งผลให้ความต้องการสินเชื่อของผู้ประกอบการยังมีไม่มาก แต่ต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นตามทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย อาจส่งผลให้ความต้องการสินเชื่อภาคธุรกิจปรับลดลงบ้างในระยะข้างหน้า

นอกจากนั้น มาตรฐานการให้สินเชื่อภาคธุรกิจมีความเข้มงวดขึ้นจากมุมมองความเสี่ยงของบางธุรกิจ เช่น ธุรกิจส่งออกที่อาจชะลอลงตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ทำให้สถาบันการเงินปรับเงื่อนไขสินเชื่อเข้มงวดขึ้น เช่น ปรับเพิ่ม margin สำหรับลูกค้ากลุ่มเสี่ยง รวมถึงปรับเงื่อนไขของหลักประกันและประกอบสัญญากู้

“สถาบันการเงินเพิ่มความระมัดระวังการให้สินเชื่อในทุกสาขาธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจภาคเกษตรที่อาจเผชิญความไม่แน่นอนด้านผลผลิต สอดคล้องกับอัตราการอนุมัติสินเชื่อและคุณภาพสินเชื่อที่มีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ดี คุณภาพสินเชื่อของธุรกิจในภาพรวมที่ปรับดีขึ้น ส่งผลให้สถาบันการเงินยังมีความต้องการปล่อยสินเชื่อธุรกิจต่อเนื่อง” นายชัยยศกล่าว

ทั้งนี้สินเชื่อ SME Q1/66 ของกสิกรไทยปรับตัวลดลงจากสิ้นปี 2565 ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายการบริหารจัดการหนี้ NPL ผ่าน JV โดยธนาคารยังคงเน้นการปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวัง เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว

ด้านนายนริศ สถาผลเดชา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สัญญาณคุณภาพสินเชื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีผ่านจุดต่ำสุดแล้วจากช่วงปี 2563-2564 ที่แย่ที่สุด แต่แนวโน้มยังมีความเปราะบาง ซึ่งคุณภาพสินเชื่อเอสเอ็มอีจะค่อยๆ ฟื้นอย่างช้าๆ ตามเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว

นายนริศ สถาผลเดชา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี

หากพิจารณาจากการบริโภคภาคเอกชนปีนี้น่าจะเติบโต 4.5% จากปีที่แล้วเติบโต 6.3% และภาคการท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีนี้ มีความเป็นไปได้ที่จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณ 30 ล้านคน ซึ่งเป็นการเติบโตที่กระจายตัว รวมทั้งมีการจ้างงาน ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยนี้จะส่งผลบวกต่อธุรกิจเอสเอ็มอี

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ภาพรวมธุรกิจเอสเอ็มอีเป็นภาคเศรษฐกิจที่ยังมีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะการค้าส่งค้าปลีกและบริการที่ทยอยฟื้นตัวตามการฟื้นตัวของการบริโภคในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทิศทางจะค่อยๆ ฟื้นตัว ส่วนภาคการผลิตฟื้นตัวไปแล้ว

“ปฎิเสธไม่ได้ว่าสินเชื่อกลุ่มนี้ยังมีความเสี่ยงสูง ต้องได้รับการดูแล ส่วนในแง่สินเชื่อใหม่นั้น สถาบันการเงินที่จะปล่อยก็ต้องระมัดระวัง ซึ่งต้องเคลียร์ของเก่าก่อน เพราะทั้งสินเชื่อ SM และ NPL รวมกันยังสูงกว่า 6 แสนล้านบาทและความต้องการสินเชื่อเอสเอ็มอีที่ปรับลดลงส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการซอฟต์โลนสิ้นสุดลง”

นายนริศกล่าวว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจรอบนี้เป็นภาคการบริโภคและท่องเที่ยว ซึ่งมีการกระจายตัวคาดว่า จะค่อยๆดีขึ้นจากเอสเอ็ม อี10 จังหวัดหัวเมืองหลักก่อน ที่เหลือยังฟื้นตัวช้าแตกต่างตามแต่ละภูมิภาคและจะต้องได้รับการดูแล นอกจากนั้น ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจะกระทบสินเชื่อเอสเอ็มอี เนื่องจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ใช้วงเงินสินเชื่อหมุนเวียน ซึ่งคิดดอกเบี้ยลอยตัว จึงมีความอ่อนไหวต่อดอกเบี้ยที่ปรับขึ้น

สำหรับกลุ่มที่น่าห่วงยังเป็นกลุ่มที่ยังเปราะบางได้แก่ ค้าปลีกและภาคบริการที่ไม่ได้รับอานิสงค์จากการท่องเที่ยวต่างชาติ และการบริโภค ซึ่งสินเชื่อกลุ่มนี้ยังมีความเสี่ยงสูงจากปัจจัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจรอบนี้ จะมาจากหัวเมืองหลัก 10 จังหวัดท่องเที่ยวที่เหลืออาจจะฟื้นช้า

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,898 วันที่ 22 - 24 มิถุนายน พ.ศ. 2566