"ภากร" ชี้เงินเฟ้อสูง ดอกเบี้ยพุ่ง กดสภาพคล่องตลาดโลก

15 มิ.ย. 2566 | 13:40 น.
อัปเดตล่าสุด :15 มิ.ย. 2566 | 13:42 น.

"ภากร ปีตธวัชชัย" ระบุ อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยยังคงปรับตัวอยู่ในระดับสูง กดดันสภาพคล่องตลาดโลก มองธนาคารแห่งประเทศไทยใช้นโยบายการเงินเหมาะสม หนุนเศรษฐกิจไทยเติบโต

(15 มิ.ย. 66) โรงแรมเรเนซองส์ กรุงเทพฯ ราชประสงค์ ในงานสัมมนา Investment Forum: New Chapter, New Opportunity จัดขึ้นโดยกรุงเทพธุรกิจ โดย นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ "ตลาดหุ้นไทย.. เชื่อมตลาดหุ้นโลก" ว่า ตลาดทุนไทยในปีนี้ยังคงมีความเสี่ยง จากภาวะเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ที่เริ่มส่งผลกระทบทำให้สภาพคล่องในตลาดโลกปรับตัวลดลง

ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบาย และอัตราเงินเฟ้อของประเทศไทย เราก็เริ่มเห็นที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่ที่ผ่านมา ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ออกมาเน้นย้ำว่าไม่มีความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องปรับอัตราดอกเบี้ยรวดเร็วเหมือนประเทศอื่นๆ ถือได้ว่าการขยับดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปของทางธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ใช้อยู่ถือว่าดำเนินมาถูกทาง

สำหรับ ตลาดทุนไทย ในปัจจุบัน ยังสามารถระดมทุนได้ดี โดยเป็นอันดับหนึ่งในอาเซียน ช่วงระยะเวลา 4-5 ปีติดต่อกัน โดยยังสามารถให้ช่องทางการระดมทุนกับบริษัทต่างๆได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีการระดมทุนประมาณ 25% ของมาร์เก็ตแคป

ถือได้ว่าตลาดทุนยังคงมีความเข้มแข็ง รวมทั้งปริมาณสภาพคล่องซื้อขายต่อวัน ยังอยู่ในระดับดีเคยขึ้นไปสูงสุดอยู่ที่เฉลี่ยวันละ 90,000 ล้านบาทในช่วงปี 2564 และในปัจจุบันมีอัตราการซื้อขายเฉลี่ยอยู่ที่ 60,000 ล้านบาท

โดยอัตราที่ลดลงมาจากสภาพคล่องที่ลดลงโดยได้รับแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับตัวสูงขึ้น

ภาพประกอบ การเติบโตของตลาดทุนไทย

โดยจุดอ่อนของตลาดทุนประเทศไทยมี 2 เรื่อง เรื่องแรกจะทำยังไงให้บริษัทจากต่างประเทศเข้ามาระดมทุนในประเทศไทยมากขึ้น และเรื่องที่ 2 จะทำยังไงให้บริษัทสตาร์ทอัพ และเอสเอ็มอี เข้ามาระดมทุนในตลาดทุนไทยให้ได้มากขึ้น ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังคงพัฒนาช่องทางเพิ่มเติมต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนกลุ่มสตาร์ทอัพและบริษัทรายย่อย

ส่วนโอกาสในตลาดหุ้นไทยหลังจากนี้ไปยังคงมีโอกาสในส่วนของภาคการท่องเที่ยวการบริการ สอดกับรองรับการเปิดประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจ Well-Being เพราะฉะนั้นธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว การค้าในประเทศ การขนส่ง ภาคอาหาร และการเกษตร ยังมีโอกาสเติบโตได้หลังจากนี้ไป

ภาพประกอบ โอกาสในตลาดหุ้นไทย

อย่างไรก็ตาม "ปัจจัยเสี่ยง" ในช่วงจากนี้ไปยังคงมี ภาวะเศรษฐกิจโลก ว่าการเติบโตจะเป็นอย่างไร รวมไปถึงอัตราเงินเฟ้อและสภาพคล่อง ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์จะมีจุดอื่นเพิ่มเติมมาอีกหรือไม่ ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงทั้งหมดที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด

พร้อมกันนี้ตลาดทุนไทยจะเร่งพัฒนาตลาด เพื่อเปิดโอกาสทางธุรกิจ และการลงทุนทั้งในสินทรัพย์หลัก รวมทั้งสินทรัพย์ดิจิทัล

ภาพประกอบ นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)

"ปีนี้เป็นปีที่ท้าทายความเสี่ยงเยอะ แต่ว่ามันก็มีโอกาส ที่เราจะสามารถลงทุนได้นะครับ เพราะว่าถ้าเราไม่ลงทุนจะยิ่งเป็นความเสี่ยง เพราะ Inflation เนี่ย มันสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็ฝากทุกท่านดูข้อมูลให้ดี วิเคราะห์ให้ดีช่วงนี้ Fake News เยอะ อย่าไปเชื่ออะไรง่ายๆ" นายภากร กล่าว

ขณะที่มุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ ต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกจากการประเมินของ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เนื่องจากมีมุมมองต่อประเทศไทย และจีนที่ เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ในปีหน้า

ซึ่งแตกต่างจากหลายประเทศทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากความเสี่ยง จนทาง IMF มองว่าเศรษฐกิจจะไม่ขยายตัวในปีหน้า โดยมีสาเหตุมาจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และการปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นตามมา ซึ่งจะทำให้สภาพคล่องในตลาดโลกลดลง ถือเป็นปัจจัยที่น่าสนใจในช่วงนี้

โดยในระยะนี้สภาพคล่องเริ่มปรับตัวลดลงแล้ว เห็นได้จากอัตราเงินเฟ้อในส่วนต่างๆปรับสูงขึ้นทั่วโลกและมีเพียงไม่กี่ประเทศที่ปรับตัวลดลง

ซึ่งสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์มองพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวอยู่ 2.7 ถึง 3.7% ในปีนี้ โดยการเจริญเติบโตมาจาก การบริโภคภายในประเทศของภาคเอกชน ที่จะเป็นตัวที่ทำให้เศรษฐกิจขยายตัว และยังมาจากภาคการลงทุน

ถือได้ว่านักเศรษฐศาสตร์ไม่ได้มองภาคการส่งออกของไทยจะเป็นแรงผลักดันหลักให้เศรษฐกิจขยายตัวเหมือนที่ผ่านมา พร้อมกันปีนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มเข้ามา 28 ล้านคน

แต่ยังไม่ถึงระดับเดิมที่เคยได้ก่อนมีโควิด-19 แต่เริ่มมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มเข้ามาในหัวเมืองจังหวัดใหญ่ แต่ในเมืองรองยังไม่เห็นนักท่องเที่ยวกลับมา