“ดร.ณรงค์ชัย” ชี้ปัญหาเงินเฟ้อ รัฐบาลใหม่ต้องดูแล

29 พ.ค. 2566 | 17:58 น.
อัปเดตล่าสุด :29 พ.ค. 2566 | 18:20 น.

ดร.ณรงค์ชัย ชี้ปัญหาเงินเฟ้อ กระทบค่าครองชีพประชาชน รัฐบาลต้องเข้ามาดูแล ส่วนทำได้มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับสถานะการคลัง พร้อมเห็นด้วยนโยบายจัดทำงบประมาณฐานศูนย์ คาดเริ่มได้ปีงบ 68

ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวอภิปรายหัวข้อเรื่อง “ปัญหาเศรษฐกิจที่รอรัฐบาลใหม่” จัดโดยสถาบันคึกฤทธิ์ ว่า ปัจจุบันสถานการณ์เงินเฟ้อเป็นเรื่องที่สำคัญ และเป็นประเด็นสำคัญของประชาชน ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลก็ตามต้องเข้ามาดูแล ซึ่งหากพูดอย่างเที่ยงธรรม คิดว่าของแพงจะทรงตัว และเงินเฟ้อขึ้นไม่มาก เพราะที่ผ่านมาไม่ได้ปล่อยให้ของบางอย่างขึ้นราคา ฉะนั้น จะมีการปล่อยออกมาบ้าง จะส่งผลให้ค่าครองชีพระดับสูงอย่างชัดเจน

 

“สรุปค่าครองชีพประชาชนจะสูงมาก และจะมีการเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไข แต่อย่าเชียร์เรื่องการคลุมราคา เพราะเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ทั้งนี้ หากความต้องการของประชาชนเช่นนี้ จะสนองความต้องการได้เท่าไหร่ ประเมินว่าทำได้น้อย เนื่องจากขึ้นอยู่กับฐานะการเงินการคลังของรัฐ”

 

โดยขณะนี้ประเทศมีสภาพคล่อง แต่ฐานะการเงินรัฐบาลไม่ดี มีข้อจำกัดจากหนี้สาธารณะชนเพดาน ขณะนี้ปรับเพดานหนี้สาธารณะเป็น 70% ต่อจีดีพี ซึ่งอีก 10 ปีข้างหน้า จะต้องปรับให้ลงมาอยู่ระดับ 60% ต่อจีดีพี เนื่องจากขณะนี้ภาระหนี้สูง แต่ฐานะการเงินของประเทศดีมาก เงินสำรองเกิน 2 แสนล้านบาท หนี้ระยะสั้นอยู่ในสัดส่วนน้อย สภาพคล่องส่วนเกินเยอะ

ส่วนตลาดทุนอยู่ในเกณฑ์ดี มาร์เก็ตแคป 18-19 ล้านล้านบาท ขณะเดียวกัน ตลาดพันธบัตร อยู่ที่ 16 ล้านล้านบาท และภาคเอกชนออกพันธบัตรได้ถึง 4 ล้านล้านบาท หมายความว่าอาจจะสะดุดบ้าง แต่ไม่ติดขัด ส่วนหนี้ของประชาชนไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจพัง แต่ทำให้เศรษฐกิจหงอย ฉะนั้น รัฐบาลจะต้องใช้มาตรการที่ทำให้เงินหมุนเวียนมากขึ้น

“กรณีโฆษณาให้คนละ 1 หมื่นบาท ผลของมันจะทำให้ทุกคนทำบล็อกเชนเป็นทั้งประเทศ เพราะต้องการได้ 1 หมื่นบาท และเรียกร้องให้มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตเข้าได้ถึงทุกบ้าน ชอบการที่ทำเป็นดิจิทัลโดยบังคับ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องแจกถึง 1 หมื่นบาท”

อย่างไรก็ดี ประเมินว่าหลายอย่างสามารถทำได้โดยไม่ต้องรอรัฐบาลใหม่ เช่น การดึงระบบไอทีมาใช้สำหรับอำนวยความสะดวกทางด้านการลงทุนภาคเอกชน การเดินทางท่องเที่ยว และการส่งออก เป็นต้น ขณะที่โครงการก่อสร้างรัฐที่ดำเนินการช้า อยากให้รัฐบาลใหม่เร่งทำให้เร็วขึ้น

ทั้งนี้ ประเทศไทยปัจจัยภายนอกยังเป็นเรื่องสำคัญที่จะตัดสินว่าเราจะเป็นอย่างไร และหากดูโครงสร้างต่อไป และถามว่าจะปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจอย่างไร จะต้องไปดูภาพของโลก ปัญหาใหญ่ของโลก คือ ความไม่เท่าเทียม และโลกร้อน และความเสี่ยงขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์

โดยธนาคารโลก (เวิล์ดแบงก์) มีการคาดการณ์ชัดเจนว่า เอเชีย และตะวันออกกลางจะมาแรง ต่อไปประเทศที่จะขึ้นมาคือ กลุ่มที่จะเป็นเพื่อนใหม่ของไทย ทั้งจีน อินเดีย ตะวันออกกลาง เป็นต้น ซึ่งจะกลายเป็นโอกาสใหม่ ฉะนั้น สิ่งที่ควรจะทำอย่างยิ่ง ได้แก่ ระเบียงเศรษฐกิจ สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง พร้อมที่จะดูแลตัวเองได้ และแก้ปัญหาคอรัปชั่น เป็นต้น  

ทั้งนี้ เห็นด้วยกับแนวคิดที่จะมีการจัดทำงบประมาณฐานศูนย์ (Zero-Based Budgeting) ที่มีการตั้งต้นด้วยศูนย์ ซึ่งมองว่ามีประโยชน์มาก แต่ปีงบประมาณ 2567 นี้อาจจะดำเนินการไม่ทัน จะต้องเริ่มทำในปี 2568 และมองว่านโยบายทุกข้อของพรรครัฐบาลเป็นสิ่งที่ดี แม้อาจจะต้องใช้เวลา แต่ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำ เนื่องจากเป็นการแก้ไขข้อกฎหมาย

ส่วนสิ่งที่อยากให้รัฐบาลใหม่ต้องทำ ได้แก่ การที่จะให้รัฐบาลลดค่าครองชีพอาจจะทำได้ยาก แต่การที่สนับสนุนให้คนทำมาหากินสะดวกขึ้น สามารถทำได้ โดยความสามารถของไอที เพื่อนำมาช่วยเครื่องมือในการทำมาหากินแก่ประชาชน ส่วนอันอื่นกฎระเบียบทั้งหลายค่อนข้างมีข้อจำกัด และอาจจะไม่ได้ทำได้ทันที