“ศุภวุฒิ” แนะรัฐบาลใหม่เก็บ VAT เพิ่ม แทนรีดภาษีกำไรจากธุรกิจ

29 พ.ค. 2566 | 17:05 น.
อัปเดตล่าสุด :29 พ.ค. 2566 | 18:21 น.
4.7 k

เกียรตินาคินภัทร ชี้นโยบายรัฐบาลใหม่เก็บภาษีจากกำไรธุรกิจ อาจกระทบการลงทุน แนะเก็บ VAT เพิ่มขึ้น ระบุหากเก็บตามกฎหมาย 10% สามารถแก้ปัญหาได้ พร้อมเปิด 5 กลุ่มท้าทายรัฐบาลใหม่ต้องดูแล

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงิน เกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวอภิปรายหัวข้อเรื่อง “ปัญหาเศรษฐกิจที่รอรัฐบาลใหม่” จัดโดยสถาบันคึกฤทธิ์ ว่า ภาพรวมผลจากากรเลือกตั้ง สะท้อนว่าคนไทยรู้สึกว่าช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจขยายตัวช้า  มีการพูดกันบ่อยๆ ว่า รวยกระจุก จนกระจาย และผลการเลือกตั้งออกมาพรรคก้าวไกลได้เป็นแกนนำรัฐบาล ซึ่งสามารถสรุปนโยบายเศรษฐกิจได้ 2 ข้อ ได้แก่ การทลายระบบทุนผูกขาด และรัฐสวัสดิการ

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงิน เกียรตินาคินภัทร (KKP)

ทั้งนี้ เป็นการเก็บเงินภาษีจากคนรวย เพื่อช่วยคนจน ให้ความเหลื่อมล้ำลดลง ซึ่งหากมองภาพจากนักเศรษฐศาสตร์ รายจ่ายส่วนใหญ่ 6.5 แสนล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่ม คนแก่ 4.2 แสนคน และเด็ก 1 แสนคน ซึ่งคนแก่มากกว่าเด็กถึง 4 เท่า โดยจะต้องใช้การเก็บภาษีค่อนข้างมาก และนโยบายส่วนใหญ่เป็นการเก็บภาษีจากคนรวย ได้แก่ 

 

  • ภาษีความมั่งคั่ง
  • ภาษีที่ดินรายแปลง
  • ภาษีบุคคลทุนใหญ่
  • เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บภาษี

อย่างไรก็ตาม หากต้องการฟื้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง การเก็บภาษีจากกำไรอาจมีผลต่อการลงทุนของภาคธุรกิจ ซึ่งรวมถึงการเก็บภาษีในบริษัทใหญ่ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ด้วยหรือไม่ และการเก็บภาษีจากการซื้อขายหุ้น และเก็บภาษีกำไรจากการขายหุ้น ภาษีความมั่งคั่ง ทุกอย่างเหล่านี้ไม่มากก็น้อยจะกระทบผลตอบแทนการลงทุน ซึ่งในยุคที่อยากให้เศรษฐกิจฟื้นต้องคิดภาพเหล่านี้ด้วย

ขณะเดียวกันในภาวะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้นนโยบายค่อนข้างจะเร็วและแรง ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันอยู่ที่ 5.25% และอเมริการายงานตัวเลขด้านเงินเฟ้อล่าสุดเดือนเม.ย.66 ออกมาสูงเกินคาด ตลาดจึงคาดว่าการประชุมเฟด วันที่ 14 มิ.ย.66 นี้ ดอกเบี้ยจะมีการปรับขึ้นอีกรอบ

“ในยุคที่ทุนมีราคาแพงขึ้น แต่จะเก็บภาษีกำไรเพิ่มขึ้น ยิ่งทำให้การลงทุนลดลง และหากจะเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นด้วย ก็จะเป็นการเพิ่มต้นทุนขึ้นไปอีก และหากน้ำมันยังแพงอยู่ต้นทุนก็จะเพิ่มขึ้นอีก ฉะนั้น จึงมีคำถามว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมั่นใจได้หรือว่าเดินต่อไปได้ในภาวะเช่นนี้”

ทั้งนี้ มองว่าแนวทางในการหารายได้เพิ่มขึ้นนั้น เห็นด้วยกับการปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพราะการขึ้น VAT อีก 1% ก็จะมีรายได้เฉลี่ยปีละ 80,000 ล้านบาท หากขึ้น VAT เป็น 10% ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาได้เลย ซึ่งเป็นกรณีที่หากต้องการเก็บภาษี และมีผลกระทบต่อการลงทุนน้อยที่สุด และตามกฎหมายการเก็บ VAT อยู่ที่ 10% แต่ปัจจุบันมีการลดอัตราภาษี VAT ลงมาเหลือ 7%

ขณะเดียวกัน เกียรตินาคินภัทร ได้รวบรวมข้อมูลธนาคารขนาดใหญ่ของประเทศไทย ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ พบว่าธนาคารขนาดใหญ่ได้หยุดเพิ่มการปล่อยกู้แล้ว สินเชื่อ -0.6% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แสดงให้เห็นว่าแบงก์เริ่มระมัดระวังตัว ซึ่งเครดิตบูโรก็เตือนว่ามีหนี้ที่เป็นหนี้เสียของรายย่อย 9 แสนล้านบาท และเป็นห่วงหนี้ที่กำลังเป็นลูกผีลูกคน กำลังจ่ายดอกเบี้ยได้ไม่คงเส้นคงวา อีกประมาณ 6 แสนล้านบาท รวมกันก็กว่า 1.5 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่าปัจจัยพื้นฐานที่เป็นลมพัดทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจทำได้ยาก ภาพที่มองไปข้างหน้า ลองนึกภาพว่าอเมริกาเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อชะลอเศรษฐกิจ แต่หากทำมากเกินไปก็อาจส่งผลให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย

ขณะที่ยุโรปเอง ยูเครนก็พยายามเตรียมบุกยึดคืนพื้นที่ ยุโรปก็ไม่แน่ใจว่าจะเกิดอะไรขึ้น และจีน ตัวเลขเศรษฐกิจก็เริ่มฟื้นช้ากว่าที่คิด โดยเศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจเปิด การส่งออกสินค้าและบริการ คิดเป็นสัดส่วน 58% ของจีดีพี ซึ่งหากดีมานด์การส่งออกอ่อนแอ เศรษฐกิจไทยจะฟื้นยากเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ เกียรตินาคินภัทร ได้รวบรวมข้อมูล FDI หรือการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศอาเซียน 5 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย โดยไทยไม่สามารถดึงเงินทุนจากต่างประเทศได้ดีเท่าประเทศคู่แข่ง จากช่วงต้นศตวรรษแรกของศตวรรษนี้ เคยดึงเข้ามาได้ 40% ปัจจุบันเหลือเพียง 8.9%

"ตอนนี้จะมีการยื้อแย่งเงินทุนที่เข้ามา แต่ก็ไม่ง่าย เพราะประเทศอื่นก็ต้องการเช่นเดียวกัน และทรัพยากรพื้นฐานของประเทศคู่แข่งก็ดีกว่าเรา เช่น ตลาดเวียดนามใหญ่กว่า แรงงานก็มีมากกว่า เป็นต้น"

ทั้งนี้ ยังมองว่ามีสิ่งที่ท้ายทาย ที่รัฐบาลใหม่จะต้องเข้ามาดูแล 5 กุล่ม ได้แก่

1. แรงงานของไทย ปี 2050 จะหายไปเกือบ 11 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของแรงงานปัจจุบัน บางประเทศ เช่น สิงคโปร์มีการนำเข้าแรงงานจำนวนมาก

2. การศึกษาไทย เป็นสิ่งที่ตามมาหลังจากขาดแรงงาน เพราะหากแรงงานมีจำนวนน้อยลง ก็ต้องมีประสิทธิภาพเพิ่มสูงขึ้น จะต้องมีการปฏิรูปการศึกษาอัพสกิล รีสกิล จะต้องทำพร้อมๆ กัน ซึ่งมีโรงเรียนในภาคบังคับ 1.5 หมื่นโรงเรียน มีครูเพียง 5 คนต่อโรงเรียน และต้องสอนนักเรียนถึง 6 ชั้น ซึ่งจะทำให้การศึกษาเดินต่อไปได้ยาก รวมทั้งจะต้องมีการปฏิรูปหนี้ให้กับครู

3. ความเหลื่อมล้ำด้านธุรกิจ เห็นด้วยกับพรรคก้าวไกลเรื่องการจัดการเรื่องทุนผูกขาด เพราะบริษัทใหญ่ในไทย 5% ทำรายได้ถึง 85% ของรายได้บริษัททั้งหมด และครองกำไรถึง 60% ของกำไรของภาคธุรกิจทั้งหมด และเมื่อดูแลเรื่องนี้แล้ว หากจะไปช่วยเอสเอ็มอี เรื่องหวยเอสเอ็มอีน่าสนใจ แต่อยากให้เอสเอ็มอีไม่เป็นเอสเอ็มอี แต่ให้เป็นยูนิคอน เป็นต้น

4. อุตสาหกรรมของไทย ยอมรับว่าอุตสาหกรรมถูกดิสรัปชัน เพราะเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ แต่รถไฟฟ้าใช้ชิ้นส่วนน้อยลง ฉะนั้น ซัพพลายเชนจะถูกดิสรัปชัน แม้จะมีผู้ผลิตเข้ามาประกอบชิ้นส่วนอีวีในไทย และอีกหนึ่งภาคอุตสาหกรรมที่จะต้องแย่งกับคนอื่น คือ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งขณะนี้เป็นเรื่องที่จะต้องแข่งเอาทุนเข้ามา

ส่วนภาคเกษตรจะต้องพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยการสนับสนุนจากภาพรัฐสูงถึงปีละ 1 แสนล้านบาททุกปี แต่เป็นการสนับสนุนที่ไม่เกิดการพัฒนา

5. กลุ่มที่ดีมานด์ที่อ่อนไหว จะต้องไปช่วย เช่น เครดิตบูโรพูดถึงคนที่มีปัญหาเรื่องหนี้ โดยเฉพาเจน X เจน Y เพื่อไม่ให้เกิดเสียอนาคต โดยจะต้องมีการรีสกิล อัพสกิล เพื่อขอยืดเวลาการชำระหนี้ ทำให้ลูกหนี้มีอนาคต เป็นต้น ขณะที่เอสเอ็มอีก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน NPL รวม 20% ไม่ดีขึ้นเลยในช่วงปีกว่าที่ผ่านมา ซึ่งยังมีความเปราะบางอยู่ วิธีแก้ปัญหาหลังยังไม่ใช่การกระตุ้นดีมานด์ แต่ยังเป็นเรื่องซัพพลาย