จับตาไตรมาส2 การเมืองดันเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง

12 พ.ค. 2566 | 17:05 น.
อัปเดตล่าสุด :12 พ.ค. 2566 | 17:05 น.

นักเศรษฐศาสตร์มองเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก ขยายตัวใกล้ 3.0% จับตาไตรมาส 2 ฟื้นต่อเนื่อง ผลการจัดตั้งรัฐบาล ราคาพลังงานต้นทุนสินค้าเกษตร ฉุดกำลังซื้อ แม้รายได้เพิ่ม สภาพัฒฯเตรียมแถลงตัวเลขจริง 15 พ.ค.66

เข้าสู่ไตรมาส 2 ปี 2566 หลายหน่วยงานเศรษฐกิจทยอยทบทวนตัวเลขคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทย(จีดีพี) ปี2566   ซึ่งส่วนใหญ่สะท้อนตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่่งจะเป็นแรงหนุนหลักของเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวดีขึ้น

ประมาณการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยปี 2566

ขณะที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)หรือ สภาพัฒน์จะประกาศตัวเลขจีดีพีไทยไตรมาสแรกปีนี้ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่มองว่า แม้เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกจะคลี่คลายจากภาวะถดถอย แต่ยังมีทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยฉุดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า

ดร.เชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัดเปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า นักวิเคราะห์ในตลาดส่วนใหญ่คาดการณ์เติบโตของจีดีพีไตรมาสแรกปี 2566 ที่ 2.6-2.7% ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดไว้ใกล้ 3.0% โดยแรงหนุนหลักมาจากการจำนวนนักท่องเที่ยวที่เห็นชัดขึ้นในเดือนมีนาคม ขณะที่ภาคส่งออกยังหดตัว แต่แนวโน้มในช่วงที่เหลือ การส่งออกน่าจะทยอยดีขึ้นเป็นแดนบวกได้เทียบกับฐานที่ต่ำในครึ่งหลังปีที่แล้ว

ดร.เชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

“แรงหนุนจริงๆของเศรษฐกิจไทยจะคาดหวังในช่วงครึ่งปีหลังไปแล้ว ซึ่งปีนี้มีเรื่องการเลือกตั้งเข้ามา จึงเป็นปัจจัยที่่ต้องติดตามผลการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ หากผลการเลือกตั้งไม่เรียบร้อยหรือมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคงจะมีผลในแง่ตัวเลขเศรษฐกิจช่วงที่เหลืออีก 3ไตรมาส ซึ่งเรื่องการเมืองมีน้ำหนักมากขึ้น”ดร.เชาว์กล่าว

ส่วนปัจจัยต่างประเทศการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ หลังธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ปรับดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง 5.25% แต่ตลาดแรงงานยังร้อนแรงอยู่ ถ้าเงินเฟ้อลดลงช้า เฟดจะลดดอกเบี้ยได้ลำบาก อีกทั้งปัญหาภาคธนาคารและหากไม่ได้ยกเพดานหนี้สาธารณะสหรัฐในเดือนมิถุนายน อาจขาดกระแสเงินสดจนเกิดผิดนัดชำระหนี้ได้

“ตอนนี้มีปัจจัยการเมืองในประเทศที่มีเงื่อนไขว่า รัฐบาลใหม่ต้องมีเสียงใน 2สภาเพื่อให้ผ่านกฎหมายสำคัญๆและปัจจัยจากต่างประเทศ เช่น เรื่องเพดานหนี้สหรัฐฯ ดอกเบี้ยเฟดหรือปัญหาแบงก์แต่ละรัฐ ซึ่งอาจมีผลในวงกว้าง"

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคาร กรุงไทยกล่าวว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปีก่อน จาก 2 ประเด็นหนุนคือ นักท่องเที่ยวเข้ามา 6 ล้านคนจาก 5.5 ล้านคนในไตรมาส 4 และเศรษฐกิจโลก ทำให้การส่งออกดีขึ้นจากที่ย่อตัวเมื่อไตรมาส 4 ที่ผ่านมา ซึ่งช่วงนั้นกังวลเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย 

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคาร กรุงไทย

“สถานการณ์ที่กังวลว่า เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยคลี่คลาย ทำให้การส่งออกและนำเข้าทั่วโลกดีขึ้นรวมทั้งไทยด้วย ซึ่งเราให้ตัวเลขจีดีพีไตรมาสแรกปีนี้ เติบโต 2.8% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน และเติบโต 2.3% จากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมาติดลบ 1.5% สะท้อนทิศทางดีขึ้นจากแรงหนุนภาคท่องเที่ยวและเศรษฐกิจโลก”ดร.พชรพจน์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงด้านเศรษฐกิจไทยยังคงอยู่คือ ค่าเงิน เพราะที่ผ่านมาผันผวนมาก ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีผลต่อฟันด์โฟลว์ รวมทั้งราคาพลังงานและแก๊ส ซึ่งขึ้นกับสถานการณ์สงครามหรือภูมิอากาศ ซึ่งต้นทุนราคาพลังงานยังเป็นปัจจัยต้องจับตาและปัจจัยการเมืองในประเทศ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณ โดยเฉพาะที่ไม่ใช่งบประจำอาจจะมีความล่าช้า

ในแง่ทิศทางดอกเบี้ยนั้น ปัจจุบันเป็นการปรับขึ้นสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและรายได้ ซึ่งดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นยังมีมาตรการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางอยู่ โดยนโยบายดอกเบี้ยต่ำอาจไม่เหมาะกับภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวยกเว้นดูแลกลุ่มเปราะบาง

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบีไทยกล่าวว่า จีดีพีไตรมาสแรกปีนี้คาดไว้ที่ 2.6%ขยายตัว 1.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า จะสะท้อนการฟื้นตัวชจากซึ่งไตรมาสที่แล้วติดลบ

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบีไทย

ทั้งนี้ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจมาจากภาคบริโภค บริการและการท่องเที่ยว เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวดีกว่าคาด ทั้งนักท่องเที่ยวจีนเริ่มกลับมาและคนไทยมีกำลังซื้อระดับกลางและระดับบน รวมทั้งการส่งมอบรถยนต์ก็เป็นส่วนสำคัญทำให้การบริโภคไตรมาสแรกดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัว แต่ยังมีปัญหาเรื่องการกระจายตัวของเศรษฐกิจ รายได้ภาคเกษตรแม้จะดูดีจากผลผลิตดีขึ้นแต่ห่วงต้นทุนที่สูงขึ้น ทำให้เหลือเงินจับจ่ายใช้สอยลดลง การเบิกจ่ายภาครัฐที่ล่าช้าและการลงทุนภาคเอกชนค่อนข้างอ่อนแอ

ขณะที่ตัวเลขส่งออกเริ่มเห็นสัญญาณบวกปลายไตรมาสแรก โดยการส่งออกที่ติดลบ 4-5% แต่ปลายไตรมาส 1 เห็นการพัฒนาเดือนต่อเดือนดีขึ้น เช่น การส่งออกของจีนเดือนมีนาคมขยายตัว 14.8%เป็นสัญญาณเชิงบวกของการระบายสต๊อคและเป็นกำลังซื้อในต่างประเทศ แต่ประเทศในอาเซียนการส่งออกยังติดลบ จะต้องติดตามพัฒนาการต่อไป

นอกจากนั้น เรื่องวัฎจักรของอิเล็กทรอนิกส์ที่อ่อนแอจากการเร่งซื้อไปก่อนหน้าช่วงโควิด(ทั้งฮาร์ดดิสไดร์ ,คอมพิวเตอร์ส่วนประกอบ) ความต้องการลดลง แต่แนวโน้มน่าจะฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง ฉะนั้นการส่งออก แม้จะติดลบไตรมาสแรก 4-5% แต่คิดว่า ปีนี้ส่งออกจะติดลบ 2.0%แต่น่าจะเห็นการฟื้นในช่วงครึ่งปีหลัง

“การเมืองในประเทศเป็นทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยเสี่ยงคือ พยุงกำลังซื้อระดับล่างได้บ้าง แต่นักลงทุนต่างชาติยังรอความชัดเจนว่ารัฐบาลจะฟอร์มเสียงข้างมาก นโยบายอาจจะใช้ไม่ทันปีนี้ แต่จะมีผลในปีหน้า ส่วนตัวเชื่อว่า ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม แต่ละพรรคจะมีสัญญาณฟอร์มรัฐบาลได้ ไม่ว่าพรรคไหนจะเข้ามา ก็จะเป็นรัฐบาลผสมอยู่ดีและรอบนี้ทีมเศรษฐกิจไม่มีเวลานั่งพัก ต้องเร่งทำงานอย่างรวดเร็วเพราะเศรษฐกิจโลกและไทยเผชิญความเสี่ยงมากและเศรษฐกิจไทยโตช้ามาก คงจะต้องระมัดระวังในการเร่งเศรษฐกิจอาจจะนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อ เป็นความท้าทายของรัฐบาลใหม่”ดร.อมรเทพกล่าว