บลจ.ไทยพาณิชย์ ส่ง SCBSTB1YA ลุยบอนด์ญี่ปุ่น

08 พ.ค. 2566 | 16:02 น.
อัปเดตล่าสุด :08 พ.ค. 2566 | 16:02 น.

บลจ.ไทยพาณิชย์ เปิดกองทุน SCBSTB1YA ลงทุนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น จับจังหวะช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น พร้อมโอกาสสร้างผลตอบแทนในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เสนอขายครั้งแรก 8 - 17 พ.ค.นี้

นางนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBAM) หรือ บลจ.ไทยพาณิชย์เปิดเผยว่า บริษัทฯยังแนะนำให้กระจายความเสี่ยงการลงทุนกับสินทรัพย์ที่มีความผันผวนต่ำอย่างกลุ่มตราสารหนี้คุณภาพ จึงได้เสนอขายกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ Short Term Bond 1YA (SCBSTB1YA) มีนโยบายลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น ที่มีคุณภาพและมีความน่าเชื่อถือสูง เพื่อโอกาสรับผลตอบแทนที่น่าสนใจจากการปรับตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในช่วงก่อนหน้านี้

นางนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บลจ.ไทยพาณิชย์

ทั้งนี้ กองทุนมีการป้องกันความเสี่ยง (Hedging) ความผันผวนของค่าเงินจากสกุลเงินเยนกลับสู่สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งกองทุนจะมีโอกาสสร้างผลตอบแทนในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ สู่เงินบาท (USD/THB) โดยเริ่มเสนอขายครั้งแรกระหว่างวันที่ 8-17 พฤษภาคม 2566  ด้วยเงินลงทุนขั้นต่ำเพียง 500 บาท กองทุนมีระยะเวลาการลงทุน 1 ปี

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นระยะสั้นอายุ 1 ปี และป้องกันความเสี่ยงค่าเงินเยนกลับสู่ดอลลาร์สหรัฐฯ ให้ผลตอบแทนประมาณ 5.10%ต่อปี ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (ที่มา Bloomberg; ณ วันที่ 30 เมษายน 2566) น่าสนใจกว่าการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะสั้น อายุ 1 ปี โดยตรงที่ให้ผลตอบแทนประมาณ 4.50%ต่อปี (ที่มา Bloomberg; ณ วันที่ 30 เมษายน 2566)

“ช่วงที่ผ่านมาธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ -0.1%  และคงนโยบาย Yield Curve Control ในขณะที่ภาคเศรษฐกิจยังต้องรับมือผลกระทบจากเงินเฟ้อพื้นฐานที่ปรับสูงขึ้น ซึ่งคาดว่า BOJ อาจมีแนวโน้มการทบทวนนโยบายการเงินในภาพรวมครั้งใหม่ ที่อาจปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อพยายามควบคุมอัตราเงินเฟ้อ รวมถึงอาจปรับเปลี่ยนเป้าหมายหรือเลิกใช้ Yield Curve Control ในระยะถัดไป โดยแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อผลตอบแทนของกองทุน”นางนันท์มนัสกล่าว

นางนันท์มนัสกล่าวต่อว่า การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ตั้งแต่มีนาคม 2565 ถึงปัจจุบัน มีอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ (Fed fund rate) อยู่ที่ 5.00-5.25% ทำให้ระดับราคาของตราสารหนี้ปัจจุบันมีความน่าสนใจต่อการเข้าลงทุนและเศรษฐกิจโลกที่ยังเติบโตในระดับต่ำ ทำให้ภาพรวมการลงทุนในตราสารหนี้ปีนี้มีแนวโน้มให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม Fed เริ่มส่งสัญญาณชะลอการขึ้นดอกเบี้ย ทำให้ความร้อนแรงของภาวะเงินเฟ้อเริ่มลดลง แต่จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนี้ไปอีกระยะหนึ่ง และรอประเมินสถานการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ รวมถึงเสถียรภาพของระบบการเงินอีกครั้ง

ทั้งนี้ หากเทียบส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ กับประเทศอื่นๆ ในปัจจุบันก็นับว่ายังอยู่ในระดับสูงมาก อาจส่งผลให้เกิดเงินทุนเคลื่อนย้ายไปลงทุนในสกุลเงินที่ได้อัตราดอกเบี้ยสูงกว่า ซึ่งจะหนุนให้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นโดยเปรียบเทียบกับสกุลเงินอื่น อย่างไรก็ตาม ตลาดทุนอาจยังมีปัจจัยลบอื่นที่เข้ามาส่งผลกระทบให้เกิดความผันผวนได้