บลจ.วรรณปลื้ม ขึ้นแท่นผู้นำกองทุนทางเลือก

19 มี.ค. 2566 | 10:00 น.

บลจ.วรรณ เผยกองทุนทางเลือก ไลฟ์ เซทเทิลเมนท์ โตทะลุเป้าต่อเนื่อง ครองแชมป์กองทุนสินทรัพย์ทางเลือกอันดับหนึ่ง หลังยอดไอพีโอ ONE-LS4-UI ทะลุ 3.3 พันล้านบาท แซง ONE-LS3-UI

นายพจน์ หะริณสุต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม วรรณ จำกัดหรือ บลจ.วรรณเปิดเผยว่า บริษัทประสบความสำเร็จจากการนำเสนอขาย กองทุนเปิด วรรณ ไลฟ์ เซทเทิลเมนท์ 4 ห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อย (ONE-LS4-UI) ซึ่งเป็นกองทุนสินทรัพย์ทางเลือก ที่ลงทุนบนกรมธรรม์ประกันชีวิตในสหรัฐฯ (Life Settlement) แห่งเดียวในประเทศไทย

นายพจน์ หะริณสุต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ จำกัด

ทั้งนี้ Life Settlement เป็นธุรกรรมที่มีกฎหมายคุ้มครองใน 43 รัฐ หรือคิดเป็น 90% ของจำนวนรัฐทั้งหมดในสหรัฐฯ  ซึ่งเป็นตลาดประกันชีวิตที่ใหญ่ที่สุดในโลกทั้งตลาดแรกและตลาดรอง

ทั้งนี้สัปดาห์ที่ผ่านมา กองทุน ONE-LS4-UI มียอดขายประมาณ  3.3 พันล้านบาท ถือเป็นการ IPO กองทุนสินทรัพย์ทางเลือกที่ใหญ่ที่สุดในตลาดถัดจากกองทุน ONE-LS3-UI ซึ่งมียอดขายขณะนั้น ประมาณ 2.2 พันล้านบาท

สำหรับ  ONE-LS4-UI จัดเป็นกองทุนประเภท Feeder Fund ที่ลงทุนในกองทุนหลักคือ กองทุน Feeder Fund จะลงทุนผ่าน One Life Settlement Limited Partnership - Main Class กองทุนหลัก บริหารจัดการโดย SL Investment Management Limited

ส่วนผลตอบแทนของ Life Settlement มาจากสินไหมเป็นหลัก โดยบริษัทประกันจะทำการแบ่งเบี้ยประกันที่ได้รับไว้อย่างชัดเจน สำหรับเป็นเงินสำรองเพื่อจ่ายสินไหม เงินลงทุน และเงินรายได้บริษัท ทำให้การลงทุนของบริษัทประกันไม่กระทบกับเงินสำรองที่จ่ายสินไหมโดยตรง

“กองทุน One Life Settlement มีนโยบายลงทุนในกรมธรรม์ประกันชีวิต ซึ่งมีความเกี่ยวข้องต่ำกับสินทรัพย์ทางการเงินอื่นๆ และปัจจัยทางเศรษฐกิจ จึงช่วยในการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวม” นายพจน์กล่าว

ขณะที่สถานการณ์การลงทุนในปัจจุบัน ตลาดเริ่มให้น้ำหนักมากขึ้นว่าเฟดอาจลดการใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัว โดยมองว่าอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อยู่ที่ 0.25% ในการประชุมในวันที่ 21-22 มี.ค นี้ และคาดว่าเฟดอาจจะหยุดขึ้นดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปีเป็นต้นไป หลังจากก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์ว่าเฟดจะพิจารณาอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.50% หลังความไม่แน่นอนของภาคธนาคารเพิ่มสูงมากขึ้น

ทั้งจากเหตุการณ์การสั่งปิดกิจการของ Silicon Valley Bank (SVB) และ Signature Bank รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับสถานะทางการเงินของ Credit Suisse ซึ่งสะท้อนความเสี่ยงในระบบในปัจจุบัน

"ความไม่แน่นอนยังคงมีอยู่ในตลาด จากความกังวลในภาคธนาคารที่เกิดขึ้นสะท้อนได้ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องใช้เวลาเพื่อพิจารณาถึงการดำเนินทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างรอบคอบ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ รวมถึงรักษาเสถียรภาพในระบบการเงิน"นายพจน์กล่าว

ดังนั้นสถานการณ์ความไม่แน่นอนดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อความผันผวนของสินทรัพย์เสี่ยงอย่างตลาดหุ้นและผลตอบแทนของตราสารหนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทั้งนี้บริษัทคาดว่า ผลกระทบจะจำกัดเฉพาะในกลุ่มธนาคารขนาดเล็กและธุรกิจที่มีสถานะทางการเงินที่อ่อนแอ นอกจากนี้ การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอาจจะยังมี downside risk จากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในปีนี้ยังมีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยมองว่าจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้นในปี 2567

สำหรับมุมมองต่อเศรษฐกิจไทย นายพจน์ กล่าวเสริมว่า IMF คาดการณ์ GDP ของไทยในปี 2566 จะขยายตัว 3.7% เพิ่มขึ้นจากระดับ 2.8% ของปี 2565 และจากเหตุการณ์สถาบันการเงินในต่างประเทศสู่สถาบันการเงินไทย บริษัทมองว่าผลกระทบต่อสถาบันการเงินไทยค่อนข้างน้อย เนื่องจากสภาพคล่องของธนาคารในไทยสูง

ประกอบกับความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อและการบริหารจัดการความเสี่ยงในการลงทุนที่ดี  จึงไม่น่ามีความกังวลต่อระบบสถาบันการเงินและตลาดทุนไทย