บลจ.ไทยพาณิชย์ เปิดกองทุน RMF น้องใหม่

21 ก.พ. 2566 | 19:25 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.พ. 2566 | 19:25 น.
552

บลจ.ไทยพาณิชย์ เปิด “SCBRMTMFPLUS” กองทุน RMF น้องใหม่ ทางเลือกพักเงิน รอจังหวะลงทุนกับ “ตราสารหนี้ภาครัฐระยะสั้น” ช่วงตลาดยังผันผวน

นางนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด(SCBAM) หรือ บลจ.ไทยพาณิชย์เปิดเผยว่า บริษัทฯ เปิดกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ ตราสารรัฐตลาดเงิน พลัส เพื่อการเลี้ยงชีพ (SCBRMTMFPLUS) กองทุน RMF กองใหม่ และเป็นกองทุนรวมตลาดเงินที่ลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ตราสารรัฐตลาดเงิน พลัส (กองทุนหลัก) หรือ (SCBTMFPLUS) โดยจะเสนอขายครั้งแรกวันที่ 21-27 กุมภาพันธ์ 2566นี้

นางนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บลจ.ไทยพาณิชย์

กองทุน SCBTMFPLUS เป็นกองทุนรวมตราสารรัฐตลาดเงินที่มีการจัดตั้งมายาวนาน และมีความโดดเด่นด้านผลงานที่อยู่ในเกณฑ์ดีมาอย่างต่อเนื่อง จากกลยุทธ์การบริหารกองทุนที่มีการคัดเลือกและลงทุนหลักในตราสารหนี้ภาครัฐระยะสั้นที่คุณภาพดี อายุเฉลี่ย 1-3 เดือน และตราสารที่ให้ Yield หรือ Credit Spread สูง เพื่อสร้างมูลค่าผลตอบแทนของตราสารที่ดีที่สุด (Valuation Premium) ทำให้กองทุนมีระดับความเสี่ยงในระดับที่ต่ำ (ระดับ 1) มีความปลอดภัยและมีสภาพคล่องสูง

อีกทั้งกองทุนหลักยังสามารถซื้อขายได้ทุกวันทำการ ทำให้มีโอกาสที่กองทุนจะยังสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีต่อไปได้อีกในระยะยาว จึงเหมาะเป็นทางเลือกสำหรับผู้ลงทุนที่มีเป้าหมายการลงทุน และ/หรือ การออมเงินเพื่อการเกษียณ พร้อมรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยใช้เป็นทางเลือกสำหรับการพักเงินลงทุน หรือกระจายการลงทุน เพื่อลดความเสี่ยงในจังหวะที่ตลาดมีความผันผวนสูง เพื่อรอจังหวะเข้าลงทุนกับกองทุน RMF ประเภทอื่น หลังจากที่ตลาดลงทุนกลับมาฟื้นตัวเต็มที่

นางนันท์มนัสกล่าวถึงทิศทางเศรษฐกิจไทยว่า มีแนวโน้มจะขยายตัวในเชิงบวกมากขึ้น ตามสัญญาณการฟื้นตัวจากการออกมาตรการเพื่อเร่งฟื้นฟูประเทศของภาครัฐ ที่เริ่มมีมาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2565 รวมถึงการเปิดประเทศของจีนที่นับว่าเป็นแรงส่งที่สำคัญ โดยเฉพาะกับภาคการท่องเที่ยว การบริการ และการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งมองว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจนี้ จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้ GDP ของไทยสามารถฟื้นตัวได้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของเศรษฐกิจอาจส่งผลให้ตลาดมีความต้องการด้านสินค้าและบริการมากขึ้น ในขณะที่ราคาสินค้าเองก็มีการปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุนการผลิตที่ถูกกดดันจากปัจจัยภายนอกประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา การปรับตัวของราคาสินค้ากับความต้องการของตลาด ได้ส่งผลให้ไทยต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่ปรับตัวขึ้นมาอยู่ในระดับที่สูง

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของไทยปี 2565 เพิ่มขึ้นถึง 6.08% และมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูง ดังนั้นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงมีนโยบายที่จะยังคงใช้แนวทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไปอีกระยะ เพื่อลดเงินเฟ้อให้กลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ 1– 3%

ล่าสุด ธปท.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ต่อปี ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 1.25% เป็น 1.50% ต่อปี และคาดว่าในปี 2566 นี้ จะทยอยปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นไปที่ระดับ 1.75% – 2.00% ซึ่งการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่ผ่านมา ได้ส่งผลให้ “ตราสารหนี้” โดยเฉพาะพันธบัตรต่างๆ มีอัตราผลตอบแทนที่ปรับสูงขึ้นมาอยู่ในระดับที่น่าสนใจ

บริษัทฯ จึงมีมุมมองเชิงบวกต่อการเข้าลงทุน โดยเฉพาะกับ “ตราสารหนี้ภาครัฐระยะสั้น” ที่มองว่าเป็นทางเลือกการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ แม้ในช่วงที่ตลาดยังมีความผันผวนได้ และ ด้วยอายุเฉลี่ยของตราสารระยะสั้น ทำให้อัตราผลตอบแทนสามารถปรับสูงขึ้นตามแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ยังคงปรับขึ้นได้อีก