ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมิน เศรษฐกิจไทยในปี 2566 ยังมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้ดี แม้ว่าจะเป็นการฟื้นตัวที่ไม่ทั่วถึงและยังเผชิญความเสี่ยงที่สูงขึ้นจากปัจจัยภายนอกทั้งเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ตลอดจนประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ที่ตึงเครียดขึ้น ซึ่งอาจจะกระทบเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าได้ ดังนั้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอาจจะยังมีความจำเป็นในกรณีที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ไม่เป็นไปตามคาด
อย่างไรก็ตาม นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่แต่ละพรรคการเมืองประกาศออกมาเพื่อใช้หาเสียงในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 พ.ค. นี้ ได้ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นในการถกเถียงเป็นวงกว้างและในขณะเดียวกันก็สร้างความคาดหวังต่อประชาชนที่สนับสนุนพรรคการเมืองนั้นๆ เช่นกัน ซึ่งท้ายที่สุดแล้วนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวจะถูกนำไปดำเนินการหรือไม่ยังขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้ง การจัดตั้งรัฐบาล
ในขณะที่ผลต่อเศรษฐกิจของนโยบายทางเศรษฐกิจชุดใหม่ โดยเฉพาะมาตรการโอนเงินยังต้องพิจารณา จำนวนเงินโอนต่อหัว เงื่อนไขอื่นๆ ของมาตรการ แหล่งเงินที่จะนำมาใช้ดำเนินมาตรการดังกล่าว รวมถึงผลต่อฐานะการคลังของประเทศ
ทั้งนี้ศูนย์กสิกรวิจัยไทย ได้มัดรวมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านเงินโอน หรือเงินให้เปล่า ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการคลังที่ภาครัฐฯได้ใช้แก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ โดยมีรายละเอียดของโครงการ หรือ มาตรการต่างๆดังต่อไปนี้
เช็คช่วยชาติ
- ให้ความช่วยเหลือแก่บุคลากรภาครัฐและผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่มีรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 15,000 บาท ให้ได้รับเงินช่วยเหลือ 2,000 บาท/คน เป้าหมายจำนวน 9.7 ล้านคน โดยจ่ายผ่าน “เช็คช่วยชาติ”
- วงเงินทั้งสิ้น 19,400 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2552 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
เยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วม 2554
- ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมครัวเรือนละ 5,000 บาท จำนวน 174,383 ครัวเรือน ใน 44 จังหวัด
- วงเงินทั้งสิ้น 871.91 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2554 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
เพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้มีรายได้น้อย
- ให้เงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท แก่ชาวนา ซึ่งมีที่ดินทำกินไม่เกิน 15 ไร่ และชาวนาที่มีที่ดินทำกินเกิน 15 ไร่ ให้ช่วยเหลือครอบครัวละ 15,000 บาท จำนวน 3.49 ล้านครัวเรือน
- วงเงินทั้งสิ้น 40,000 ล้านบาท โดยให้ ธ.ก.ส.ตั้งวงเงินเพื่อการนี้ไม่เกิน 45,000 ล้านบาท และขออนุมัติงบประมาณชดใช้ตามจ่ายจริงในปีถัดไปพร้อมดอกเบี้ย
กองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม
- ให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย (ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐฯ) เช่น การให้วงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค 200-300 บาท/คน/เดือน ค่าโดยสารรถสาธารณะ 500 บาท/เดือน โดยงบประมาณเฉลี่ยต่อปีมากกว่า 40,000 ล้านบาท
- วงเงินทั้งสิ้นประมาณ 333,229 ล้านบาท (เฉลี่ยงบประมาณ 55,000 ล้านบาท/ปี) โดยใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี ภายใต้กองทุนประชารัฐฯ
เพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
- เพิ่มวงเงินค่าซื้อสินค้าบริโภคอุปโภคในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเกือบ 14 ล้านคน คนละ 200-500 บาท/เดือน โดยมีทั้งหมด 5 เฟส วงเงินขึ้นอยู่กับแต่ละเฟส
- วงเงินทั้งสิ้นประมาณ 71,787 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณจาก พ.ร.ก.เงินกู้ฯ ปี 2563 และ 2564
ช่วยเหลือค่าครองชีพผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
- เพิ่มวงเงินค่าซื้ออุปโภคบริโภคที่จำเป็นในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอีก 200 บาท/คน เป็นระยะเวลา 1 เดือน ประจำเดือนมกราคม 2566
- วงเงินทั้งสิ้น 2,644 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
ชิมช้อปใช้
- ให้สิทธิประโยชน์แก่ประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้น จำนวนไม่เกิน 15 ล้านคน ได้รับสิทธิประโยชน์จากการใช้จ่ายผ่านแอปเป๋าตัง กับผู้ประกอบการที่ลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการและติดตั้งแอปถุงเงิน
- ได้รับสิทธิผ่านการใช้จ่ายผ่าน g-Wallet ช่องที่ 1 (เงินสนับสนุนจากภาครัฐ 1,000 บาท) และการใช้จ่ายผ่าน g-Wallet ช่องที่ 2 (ประชาชนเติมเงินเพื่อใช้จ่ายและได้รับเงินชดเชยจากภาครัฐร้อยละ 15 หรือ 20 ของยอดใช้จ่ายจริง)
- วงเงินทั้งสิ้นประมาณ 21,000 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563
เราไม่ทิ้งกัน
- ให้เงินชดเชยกลุ่มอาชีพอิสระจำนวน 16 ล้านคน และกลุ่มเกษตรกร 10 ล้านคน รวม 26 ล้านคน คนละ 5,000 บาท/เดือน รวมคนละ 15,000 บาท ต่อมาเพิ่มเติมกลุ่มเก็บตกจำนวน 7.9 ล้านคน คนละ 1,000 บาท/เดือน รวมคนละ 3,000 บาท
- วงเงินทั้งสิ้นประมาณ 413,839 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และ พ.ร.ก.เงินกู้ฯ ปี 2563
เราชนะ
- ให้การสนับสนุนวงเงินช่วยเหลือให้แก่ประชาชนประมาณ 31.1 ล้านคน วงเงินไม่เกิน 7,000 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 2 เดือน และรอบเพิ่มเติมอีก 32.9 ล้านคน ได้รับเพิ่มอีก 2,000 บาท
- วงเงินทั้งสิ้นประมาณ 277,200 ล้านบาท โดยใช้ พ.ร.ก.เงินกู้ฯ 2563
คนละครึ่ง
- ภาครัฐร่วมจ่ายค่าอาหาร เครื่องดื่ม สินค้าและบริการที่กำหนด ในอัตราร้อยละ 50 ไม่เกิน 150 บาท/คน/วัน
- เฟส 1 และ 2 ไม่เกิน 3,500 บาท/คน จำนวน 15 ล้านคน (งบประมาณ 52,500 ล้านบาท)
- เฟส 3 ไม่เกิน 3,000 บาท/คน จำนวน 28 ล้านคน (งบประมาณ 84,000 ล้านบาท)
- เฟส 4 ไม่เกิน 1,200 บาท/คน จำนวน 29 ล้านคน (งบประมาณ 34,800 ล้านบาท)
- เฟส 5 ไม่เกิน 800 บาท/คน จำนวน 26.5 ล้านคน (งบประมาณ 21,200 ล้านบาท)
- วงเงินทั้งสิ้น 192,500 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณจาก พ.ร.ก.เงินกู้ฯ ปี 2563 และ 2564
เราเที่ยวด้วยกัน
- ภาครัฐสนับสนุนส่วนลดค่าอาหารและค่าเข้าสถานที่ท่องเที่ยว รัฐบาลจะสนับสนุนคูปองอาหาร/ท่องเที่ยวมูลค่า 600 บาทต่อห้องต่อคืน ในลักษณะ e-voucher โดยประชาชนชำระ 60% และรัฐบาลสนับสนุนอีก 40% ผ่านการตัดเงินจากคูปอง
- วงเงินทั้งสิ้นประมาณ 7,236 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณจาก พ.ร.ก.เงินกู้ฯ ปี 2563 และ 2564
เยียวยาน้ำท่วม 2565
- ให้เงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2565 จำนวน 1,046,460 ครัวเรือนที่อยู่ในพื้นที่ กทม. และ 66 จังหวัดที่ประสบอุทกภัย ในวงเงิน 5,000-9,000 บาท/ครัวเรือน
- วงเงินทั้งสิ้น 6,258.54 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น