ย้อนรอย Lehman Brothers ยักษ์ใหญ่แห่งโลกการเงินที่ล้มลง

14 มี.ค. 2566 | 00:55 น.
1.3 k

ย้อนรอย วิกฤต Lehman Brothers เลห์แมน บราเธอร์ส ยักษ์ใหญ่แห่งโลกของการเงินที่ล้มลง ในปี 2008 ช็อกตลาดการเงินทั่วโลก เกิดวิกฤตซับไพร์มที่เลื่องชื่อ ท่ามกลางความกังวลใจหลังแบงก์สหรัฐล้ม

เป็นช่วงเวลาที่น่ากังวลในโลกการเงินกับวิกฤติแบงก์สหรัฐล้ม เพียง 1สัปดาห์ เริ่มตั้งแต่ Silvergate ธนาคารยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมคริปโต ประกาศปิดกิจการ  SVB ธนาคาร Silicon Valley Bank ถูกควบคุมกิจการธนาคาร และ ธนาคารซิกเนเจอร์ Signature Bank  โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศว่าจะจัดตั้งโครงการ "Bank Term Funding Program" ปกป้องสถาบันการเงินต่าง ๆ

จากวิกฤตที่เกิดขึ้น คำถามที่ตามมาก็คือ จะลุกลามเป็นวิกฤติการเงินทั่วโลกเช่นเดียวกับกรณี เลห์แมน บราเธอร์ส (Lehman Brothers) ในปี 2008 หรือ ปีพ.ศ. 2551 หรือไม่

อ่านเพิ่มเติม : ธนาคารสหรัฐฯ ล้ม “สุพัฒนพงษ์” เชื่อไม่ซ้ำรอย เลห์แมน บราเธอร์ส

Lehman Brothers วาณิชธนกิจอันดับ 4 ของโลก มีพนักงาน 25,000 คนทั่วโลก มีสินทรัพย์ 639 พันล้านดอลลาร์ และหนี้สิน 613 พันล้านดอลลาร์ ธนาคารกลายเป็นสัญลักษณ์ของวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2550-2551 ที่ท่วมท้นด้วยการล่มสลายของซับไพรม์ที่แผ่ขยายไปทั่วตลาดการเงินและทำให้ผลผลิตทางเศรษฐกิจสูญเสียไปประมาณ 10 ล้านล้านดอลลาร์ 

วันที่ 15 กันยายน 2551 ประกาศล้มละลาย นำมาสู่ความตื่นตระหนกในตลาดการเงินทั่วโลก Dow Jones ร่วงทันทีกว่า 4.4% พร้อมกับต้นทุนการกู้ยืมที่ขยับขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ เกิดความผันผวนในตลาดการเงินทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย เกิดสภาพคล่องทั่วโลกได้ตึงตัวรุนแรง (Credit Crunch) ธนาคารกลางประเทศต่างๆ เพื่อแก้ปัญหา Credit Crunch

วันที่ 16-18 กันยายน 2551 ธนาคารกลางประเทศต่างๆ อัดฉีดสภาพคล่องเข้ามาในระบบโดยรวมไม่ต่ำกว่า 160 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เช่น ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ยุโรป (ECB) ญี่ปุ่น (BOJ) และออสเตรเลีย (RBA) เป็นต้น

วันที่ 17 กันยายน 2551 Fed ประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2 เพื่อระงับความตื่นตระหนกของนักลงทุน ปัญหาดังกล่าวยังลุกลามไปยังสถาบันการเงินอื่น ๆ เช่น AIG ซึ่งเป็นบริษัทประกันที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐ ทำให้เสี่ยงต่อภาวะล้มละลาย ทำให้ Fed ต้องเข้าช่วยเหลือสภาพคล่องซื้อหลักทรัพย์ AIG ถึงร้อยละ 89 เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาลุกลามไปยังสถาบันการเงินอื่น

ความผิดพลาดครั้งใหญ่ 3 ประการของเลห์แมน Lehman Brothers 

กู้เพื่อนำมาลงทุน

ปี 2550 Lehman Brothers กู้มาลงทุนสูงสุดมากถึง 44 เท่า โดยมีการลงทุนในสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ (MBS) เเต่เมื่อเงินเฟ้อเริ่มขึ้น ดอกเบี้ยเงินกู้สูงขึ้น ทำให้เกิดการผิดชำระหนี้ ตลาดอสังหาฯ ซบเซา มูลค่าของสินเชื่อลดลงจึงส่งผลให้เกิดการขาดทุนมหาศาล ไม่มีเงินใช้หนี้ที่กู้มา สุดท้ายก็ล้มลง

หนี้สิน

Lehman Brothers มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ที่ 30-60 ต่อ 1 ในหลายๆ ครั้ง หากบริษัทมีหนี้สินอยู่ที่ 60 ดอลลาร์ต่อทุกๆ 1 ดอลลาร์ของทุน การลดลงของมูลค่าสินทรัพย์ที่อ้างอิงการลงทุนหรือส่วนต่างของสินทรัพย์จะผลักดันให้บริษัทล้มละลาย

Lehman Brothers เมื่อเริ่มเปิดเผยงบการเงินที่ขาดทุนมากขึ้นเรื่อยๆ ขาดสภาพคล่องทางการเงิน ส่งผลให้ขาดเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้น ธุรกิจไม่สามารถดำเนินการต่อได้ เงินที่กู้ยืมมาลงทุนไม่สามารถใช้คืน จึง ก่อให้เกิดหายนะเเละล้มละลายในที่สุด

แผนการจ่ายผลตอบแทนแบบ Upside-only

ระบบโบนัสสำหรับคนที่การสร้างผลตอบแทนให้บริษัทได้กำไร เป็นการจูงใจให้พนักงานที่เกี่ยวข้องเร่งแผนการลงทุนของบริษัท ส่งผลให้ขาดความระมัดระวังต่อแผนการลงทุน เช่น กู้ยืมเงินมาลงทุนในจำนวนมหาศาล ในอสังหาริมทรัพย์และผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่อ้างอิงกับสินเชื่ออสังหาฯ 

วิกฤต Lehman Brothers มีผลกระทบต่อไทย

ในครั้งนั้น สศค. วิเคราะห์ว่า วิกฤตนี้เป็นผลสืบเนื่องจากสภาวะสภาพคล่องล้นโลก 

ผลกระทบกับไทยทางตรงไม่มากนัก เพราะสถาบันการเงินไทยและธุรกิจไทยมีธุรกรรมและความเสี่ยง (Exposure) กับ Lehman Brothers น้อย แต่อาจมีผลกระทบต่อสภาวะสภาพคล่องในประเทศให้ตึงตัวในอนาคตเนื่องจากบริษัทที่กู้เงินจาก Lehman Brothers ต้องหาแหล่งเงินทุนใหม่ในประเทศมาทดแทน

ทางอ้อมพบว่ามีผลสู่ตลาดเงินตลาดทุนไทยมากระยะสั้น ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ผันผวน สภาพคล่องในประเทศอาจเริ่มตึงตัวขึ้นตามตลาดโลก ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มผันผวนมากขึ้น

ข้อมูล : harvard business review , investopedia