สรรพากรลุยแก้กฎหมาย สยบธุรกิจเหล็กโกงภาษีมูลค่าเพิ่ม

27 ก.พ. 2566 | 13:56 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ก.พ. 2566 | 14:20 น.
617

กรมสรรพากรลุยแก้กฎหมาย สยบปัญหาธุรกิจค้าเหล็กปลอมใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ใช้ผู้ค้าเหล็กรายใหญ่ ทำหน้าที่ออกใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มแทนผู้รวบรวมเศษเหล็ก

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรเตรียมแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของธุรกิจรับซื้อเศษเหล็ก แก้ปัญหาโกงการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยกรมจะออกพระราชกฤษฎีกา ในเรื่องการออกใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มของธุรกิจค้าเหล็กในระยะสั้น ซึ่งจะให้โรงหลอมเหล็กที่เป็นปลายทางของระบบการค้าในธุรกิจค้าเหล็ก ทำหน้าที่ในการออกภาษีขายแทนธุรกิจค้าเหล็ก และในระยะยาวจะแก้ไขประมวลรัษฎากร

 

ทั้งนี้ ในระบบการค้าธุรกิจค้าเหล็ก จะเริ่มจากผู้รับซื้อเศษเหล็กรายย่อย เช่น คนที่ขี่รถซาเล้ง ออกไปรับซื้อเศษเหล็กตามบ้าน เพื่อมานำส่งขายให้กับผู้รวบรวมเศษเหล็ก ซึ่งมีทั้งรายเล็กและรายใหญ่ จากนั้นผู้รวบรวมเศษเหล็ก ก็ขายเศษเหล็กให้กับโรงหลอมเหล็ก เพื่อแปรรูปเหล็กนำกลับมาใช้อีกครั้ง 

 

“ปัจจุบันภาษีมูลค่าเพิ่ม กำหนดให้ผู้ขายเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีขาย ดังนั้น เมื่อบริษัทผู้รวบรวมเหล็ก ขายเหล็กให้กับโรงหลอมเหล็ก บริษัทต้องออกใบกำกับภาษีขายให้กับโรงหลอม ทำให้ผู้ขายทำหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มที่อยู่ในอัตรา 7%  อย่างไรก็ตาม พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ จะกำหนดให้ธุรกิจโรงหลอมเหล็ก เป็นผู้ออกใบกำกับภาษีขาย แทนธุรกิจผู้รวบรวมเศษเหล็ก”

สำหรับสาเหตุที่ต้องแก้ไขกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากเกิดปัญหาการปลอมใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มในธุรกิจนี้จำนวนมาก ซึ่งมีทั้งที่ตั้งใจปลอมใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อหวังขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มมากกว่าปกติ และมีทั้งที่ไม่ได้ตั้งใจปลอมใบกำกับภาษี

นายลวรณ กล่าวว่า โรงหลอมเหล็กที่เป็นผู้รับซื้อเศษเหล็ก อาจมีใบกับภาษีปลอมติดเข้ามาด้วย จากผู้รวบรวมเศษเหล็กขาย เช่น มีใบกำกับภาษี 1,000 ใบ พบใบกำกับภาษีปลอม 20 ใบ เมื่อกรมตรวจพบ ก็จะกลายเป็นคดีโกงภาษีโดยไม่ได้ตั้งใจเป็นจำนวนมาก ซึ่งกฎเหล็กของกรมสรรพากร คือ หากมีกรณีตรวจพบใบกำกับภาษีปลอม จะไม่มีการเจรจา

“เรามีคดีที่เกี่ยวกับการโกงใบกำกับภาษีในธุรกิจค้าเหล็กเยอะ เราก็ตรวจเข้ม ก็ไปดูจะทำอย่างไร ได้ทางออกมาแล้ว คือ ระบบภาษีมูลค่า มีกลไกหนึ่งที่เรียกว่า Reverse Charge หรือ การตรวจสอบย้อนหลัง ถ้าเราเชื่อมั่นในการทำธุรกิจขนาดใหญ่ของเขา เขาสามารถทำหน้าที่ทั้งภาษีขายและภาษีซื้อได้ทั้งสองขา เรากำลังดำเนินการด้านกฎหมาย และคุยกับผู้ประกอบการแล้ว เขาก็เห็นด้วย”

ทั้งนี้ ตามกฎหมายของกรมสรรพากร กำหนดให้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ที่ประกอบการค้า และมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และมีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับกรม โดยทุกครั้งที่ขายสินค้าออกไป จะต้องออกใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ซื้อ ซึ่งในฝั่งผู้ขาย จะเรียกว่าใบกำกับภาษีขาย

ขณะที่ฝั่งผู้ซื้อซึ่งจะได้รับใบกำกับภาษีด้วย เรียกว่า ใบกำกับภาษีซื้อ เช่น ราคาสินค้าราคา 100 บาท ผู้ขายจะบวกภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7 บาท รวมเป็น 107 บาท ซึ่งผู้ขายมีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม 7 บาทดังกล่าวต่อกรมสรรพากรในเดือนถัดไป

“ฝั่งผู้ซื้อสินค้าที่ต้องชำระเงินในราคา 107 บาทนั้น เท่ากับว่ามีภาระภาษี 7 บาท ซึ่งภาษี 7 บาทนี้ถือเป็นภาษีซื้อของผู้ซื้อ ซึ่งผู้ซื้อสามารถนำภาษีซื้อดังกล่าวมาหักออกจากยอดภาษีขายได้ กรณีภาษีขาย น้อยกว่าภาษีซื้อ ธุรกิจนั้นก็จะได้รับการคืนภาษีส่วนเกิน”