ขาใหญ่แห่เปิดแนวรบบริการเวอร์ชวลแบงก์

26 ก.พ. 2566 | 07:30 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ก.พ. 2566 | 08:25 น.
575

ธนาคารดั้งเดิมเคลียร์ทางตอบโจทย์ลูกค้าเร่งสปีดยกระดับบริการสู่ “ดิจิทัลแบงก์” SCBX ลั่นเตรียมประกาศพันธมิตร “ Virtual Bank” ขยายฐานลูกค้ากลุ่ม Unbanked ค่าย “กรุงไทย” ย้ำแผนปั้นธุรกิจใหม่-ลุ้นเกณฑ์ธปท.อนุมัติ “เวอร์ชวลแบงก์”

ตลาดภาคธนาคารกำลังมุ่งสู่ดิจิทัลแบงก์กิ้งและรอลุ้นกับการจะเข้ามาของ “ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาหรือ Virtual BANK จำนวน  3  ราย  ซึ่งจะประเดิมรับใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในปี 2567

ล่าสุดรายงานสถิติยอดใช้บริการชำระเงินผ่าน Mobile Banking กับผ่านบริการ Internet Banking จากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เมื่อสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2565 พบว่า บริการชำระเงินผ่าน Mobile Banking เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเดือนพฤศจิกายน 2565 มีจำนวน 95.64 ล้านบัญชี และมีมูลค่ารายการทำธุรกรรม 5.8 ล้านล้านบาท จากปี 2560 มีอยู่ราว 31 ล้านบัญชีและมีมูลค่ารายการเพียง 9.77แสนล้านบาท โดยจำนวนบัญชีเพิ่มขึ้นกว่า 208% และมูลค่ารายการเพิ่มกว่า 493%

เช่นเดียวกับผู้ใช้บริการผ่านบริการ Internet Banking ซึ่งลูกค้าทำธุรกรรมชำระเงินผ่านบริการ Internet Banking เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจำนวนธุรกรรมชำระเงินผ่านบริการรวม 41.11ล้านบัญชี มีมูลค่ากว่า 2 .76ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น กว่า 107% และ 55.9% ตามลำดับจากปี 2560 อยู่ที่ 19.83 ล้านบัญชี และมูลค่ารายการทำธุรกรรมอยู่ที่ 1.77ล้านล้านบาท

 ในทางกลับกัน “สาขาธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งระบบ”สะท้อนการปรับลดลงตลอด 5 ปี โดยเดือนมกราคม 2566 มี 30ธนาคาร รวมสาขาทั้งสิ้น 5,267 สาขา ลดลง 1,468 สาขา หรือ 21.79% จาก 6,735 สาขาเมื่อสิ้นเดือนธันวาคมปี 2561

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ทิศทางของ SCBX ยังคงเป็นไปตามแผนเดิม คือ การขยายช่องทางที่จะเป็นไฟแนนซ์เชียลเทคโนโลยีโดยเฉพาะโอกาสดิจิทัลหรือความสามารถด้านเทคโนโลยี แต่ไม่พลีพลามต้องดูอย่างรอบคอบ ซึ่งเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ราคาสินทรัพย์หลายบริษัทปรับตัวจากเศรษฐกิจโลก จึงถือโอกาสนี้มองโอกาสที่จะเพิ่มความสามารถด้านเทคโนโลยีไปในภูมิภาค

ต่อข้อถามความสนใจทำ “เวอร์ชวลแบงก์นั้น นายอาทิตย์กล่าวยืนยันว่ายังคงสนใจโดย “เวอร์ชวลแบงก์” จะไปในนามของ SCBX ไม่ได้ไปในนามของธนาคารไทยพาณิชย์ โดยเป็นรูปแบบจับมือกับพันธมิตรคงไม่นานจะประกาศ พร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่า การออกใบอนุญาตธนาคารพาณิชย์รูปแบบใหม่ที่ไม่มีสาขา หรือ Virtual Bank เป็นนโยบายส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินพื้นฐานของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ที่ต้องการให้ทำเพื่อคนที่ยังเข้าไม่ถึงระบบไม่ใช่ให้ธนาคารทำเหมือนเดิม

 ทั้งนี้ หากพิจารณาจากระบบเงินฝากของประเทศไทยราว 15-16 ล้านล้านบาท และสินเชื่อราว 14-15 ล้านล้านบาท เหล่านี้คือ ลูกค้าที่มีรายได้สูงระดับหนึ่งและเป็นลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิม (กลุ่มMass -Upper mass) แต่ยังมีอีกหลายสิบล้านคนที่เป็นสินเชื่อนอกระบบอยู่ใน Shark Loan ซึ่งยังเข้าไม่ถึงระบบสินเชื่อ

“โจทย์ของ SCBX ที่ตั้งไว้เป็นหนึ่งใน Pain point คือ จะลงทุนเพื่อดูแลกลุ่ม Unbanked เพราะเรามีแบงก์ไทยพาณิชย์ดูแลเซ็กเมนต์ระดับกลางและระดับบนอยู่แล้ว อันนี้เป็นความตั้งใจของเรา”

ด้านนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า Virtual Bank  เป็นอีกหนึ่งโอกาสที่กรุงไทยเร่งเข้าไปศึกษาโดยอยู่ระหว่างรอ ธปท.สรุปหลักเกณฑ์หรือแนวทางสุดท้ายที่จะออกมา

ส่วนทิศทางกรุงไทยยังคงต้องปรับตัวต่อเนื่องรวมทั้งยกระดับธนาคารให้เท่าทันเทคโนโลยี พันธมิตร ระบบเศรษฐกิจและกลไกต่างๆที่มีการปรับตัวยกระดับขึ้นโดยใช้ศักยภาพเทคโนโลยีอย่างเต็มที่และตอบโจทย์ชีวิต ตอบโจทย์ธุรกิจและชีวิตประชาชนที่เปลี่ยนไปในบริบทของโลกดิจิทัล ซึ่งนับเป็นความท้าทาย

ส่วนการยกระดับสู่ “ดิจิทัลแบงก์”นั้น ในหลักการคือ 1.ต้องปรับตัวเพื่อตอบโจทย์การให้บริการและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับลูกค้าอย่างไร 2.ต้องยกระดับต้นทุนให้บริการให้สามารถแข่งขันได้ด้วยต้นทุนถูกที่สุดโดยนำนวัตกรรมนำเทคโนโลยีมาใช้ให้ได้มากที่สุด สำหรับฐานลูกค้าดิจิทัลแบงก์ของกรุงไทยตอนนี้มี 40กว่าล้านบัญชีแต่ต้องยอมรับว่าจะระบุเป็นรายไม่ได้เพราะลูกค้าหนึ่งรายไม่ได้มีทุกกิจกรรม แต่สาขาของธนาคารยังต้องมีอยู่และส่วนมูลค่าธุรกรรมผ่านดิจิทัลแบงก์เพิ่มขึ้นมาก

ส่วนนายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (AIS) กล่าวกับ”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ขณะนี้ทีมงาน AIS กำลังทำงานร่วมกับ ธนาคารกรุงไทย และ กัลฟ์ อย่างต่อเนื่องในเรื่องของ Virtual Banking โดย AIS มองว่า Virtual Banking เป็นเทรนด์ของโลก โดยที่ Virtual Banking จะลดข้อจำกัดของไพรเวทแบงก์กิ้งที่มีอยู่ปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้เกิดธุรกรรมการเงินใหม่ที่แบงก์ทำไม่ได้ เช่น นาโนไฟแนนซ์

ขาใหญ่แห่เปิดแนวรบบริการเวอร์ชวลแบงก์

ดังนั้น Virtual Banking จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับกลุ่มรากหญ้า เช่น ในปากีสถานที่ Virtual Banking สามารถช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการการเงินมากขึ้น จึงมองว่า Virtual Banking น่าจะเป็นประโยชน์กับคนไทย ที่ปัจจุบันเปิดรับและเข้าถึงเทคโนโลยีมากขึ้น

ขาใหญ่แห่เปิดแนวรบบริการเวอร์ชวลแบงก์

ด้านนายชูเกียรติ รุจนพรพจี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าขณะนี้กำลังรอไกด์ไลน์การจัดตั้ง Virtual Banking จากธปท. ซึ่งเท่าที่พูดคุยกับธปท. อยากเปิดให้ผู้เล่นรายใหม่ หรือ นันแบงก์ เข้ามาให้บริการ Virtual Banking โดยธนาคารพาณิชย์เดิมไม่เกิดบริการใหม่ๆ ซึ่งขณะนี้สบายเทคโนโลยีมีความพร้อมในการให้บริการ Virtual Banking โดยมีฐานลูกค้าในอีโคซิสเต็ม 50 ล้านราย