จับตา “คลัง” ต่ออายุมาตรการลดภาษีพยุงราคาน้ำมันดีเซล

11 ม.ค. 2566 | 11:26 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ม.ค. 2566 | 18:59 น.

รมว.คลัง เผยต่ออายุมาตรการภาษีดีเซลที่จะสิ้นสุด 20 ม.ค.66 ต้องติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันใกล้ชิด แม้น้ำมันตลาดโลกราคาลดลง แต่ต้องดูราคาอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ ชี้ที่ผ่านมาสรรพสามิตสูญรายได้ 1 แสนล้านบาท

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การพิจารณาขยายเวลาลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลิตรละ 5 บาท ที่จะสิ้นสุดมาตรการวันที่ 20 ม.ค.66 ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาแนวโน้มราคาน้ำมัน ยังตอบไม่ได้ว่าจะต่ออายุหรือไม่

 

โดยต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะแม้ภาพรวมราคาน้ำมันตลาดโลกจะลดลง แต่จะต้องดูราคาน้ำมันดีเซล ที่อ้างอิงราคาจากตลาดสิงคโปร์เป็นส่วนประกอบด้วย

“เรายังไม่สามารถระบุได้ว่าจะขยายเวลาลดภาษีน้ำมันดีเซลออกไปอีกหรือไม่ ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แม้แนวโน้มราคาน้ำมันตลาดโลกลดลง แต่ไทยยังดูราคาน้ำมันดีเซลอ้างอิงจากประเทศสิงคโปร์ด้วย ซึ่งยังอยู่ในอัตราที่สูงอยู่”

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การลดภาษีน้ำมันดีเซล กระทบต่อการจัดเก็บรายได้กรมสรรพสามิต โดย 2 เดือนแรกปีงบประมาณ 2566 สรรพสามิตเก็บรายได้ภาษีน้ำมันได้เพียง 8,389 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายตามเอกสารงบประมาณ 11,035 ล้านบาท

ทั้งนี้  ที่ผ่านมากรมสรรพสามิตลดภาษีดีเซล เพื่อพยุงราคาน้ำมันไปแล้ว 5 ครั้ง เริ่มตั้งแต่ 18 ก.พ.65 -20 ม.ค.66 สูญรายได้รวมแล้วกว่า 1.08 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็น

รอบที่ 1 วันที่ 18 ก.พ.65 – 20 พ.ค.65 ลดภาษีน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 3 บาท นาน 3 เดือน ส่งผลให้รัฐสูญรายได้ 18,000 ล้านบาท

รอบที่ 2 วันที่ 21 พ.ค. – 20 ก.ค.65 ลดภาษีน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 5 บาท นาน 3 เดือน ส่งผลให้รัฐสูญรายได้ 30,000 ล้านบาท

รอบที่ 3 วันที่ 21 ก.ค. – 20 ก.ย.65 ลดภาษีน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 5 บาท นาน 2 เดือน ส่งผลให้รัฐสูญรายได้ 20,000 ล้านบาท

รอบที่ 4 วันที่ 21 ก.ย. – 20 พ.ย.65 ลดภาษีน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 5 บาท นาน 2 เดือน ส่งผลให้รัฐสูญรายได้ 20,000 ล้านบาท

รอบที่ 5 วันที่ 21 พ.ย.65 – 20 ม.ค.66 ลดภาษีน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 5 บาท นาน 2 เดือน ส่งผลให้รัฐสูญรายได้ 20,000 ล้านบาท