ปักธงแผนการคลังระยะปานกลาง ขาดดุลงบไม่เกิน 3%

27 ธ.ค. 2565 | 17:01 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ธ.ค. 2565 | 00:02 น.

คลังชี้ ครม. เคาะแผนการคลังระยะปานกลาง 4 ปี วางเป้างบประมาณขาดดุลลดลง ไม่เกิน 3% เริ่มปีงบ 67 ลดการขาดดุล เหลือ 5.93 แสนล้านบาท คุมหนี้สาธารณะไม่เกินเพดาน 70% ต่อจีดีพี

นายอาคม  เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง ปีงบประมาณ 2567 – 2570 เพื่อใช้เป็นแผนแม่บทหลักสำหรับการวางแผนดำเนินการทางการเงินการคลัง และงบประมาณของรัฐ 

 

 

โดยตั้งเป้าหมายการขาดดุลงบประมาณลดลง ไม่เกิน 3% ต่อจีดีพี เริ่มต้นตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567 เป็นต้นไป จากปีงบประมาณ 2566 ขาดดุลอยู่ที่ 695,00 ล้านบาท คิดเป็น 3.70% ดังนี้

 

  • ปีงบประมาณ 2567 ขาดดุลงบประมาณ 593,000 ล้านบาท คิดเป็น 3% ต่อจีดีดี

 

  • ปีงบประมาณ 2568 ขาดดุลงบประมาณ 590,000 ล้านบาท คิดเป็น 2.84% ต่อจีดีดี

 

  • ปีงบประมาณ 2569 ขาดดุลงบประมาณ 615,000 ล้านบาท คิดเป็น 2.81% ต่อจีดีดี

 

  • ปีงบประมาณ 2570 ขาดดุลงบประมาณ 641,000 ล้านบาท คิดเป็น 2.79% ต่อจีดีดี

 

“ในปีงบประมาณ 2569 ในแง่มูลค่าอาจเพิ่มขึ้น เนื่องจากคลังได้ตั้งสมมติฐานว่าอัตราการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลจะเพิ่มขึ้น 3% มูลค่ากว่า 2.95 ล้านล้านบาท จึงทำให้มูลค่าในการคำนวณการขาดดุลงบประมาณเพิ่ม แต่เปอร์เซ็นต์ยังลดลงไม่เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่างบขาดดุลไม่เกิน 3%”

 

อย่างไรก็ดี แม้มีการตั้งเป้าหมายงบขาดดุลลดลง แต่งบประมาณรายจ่ายยังขยายตัว โดยในปีงบประมาณ 2567 คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ได้เห็นชอบการทำงบประมาณรายจ่ายไว้ที่ 3.35 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2566 ที่อยู่ระดับ 3.18 ล้านล้านบาท ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลยังมีความสามารถในการใช้จ่าย

 

ขณะเดียวกัน ยังได้วางกรอบแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ปีงบประมาณ 2567 – 2570 โดยเฉลี่ยยังรักษาสัดส่วนหนี้สาธารณะไว้ที่ 61% ต่อจีดีพี  ซึ่งยังอยู่ในกรอบเพดานหนี้หน้าธารณะที่กำหนดไว้ว่าจะต้องไม่เกิน 70% ต่อจีดีพี โดยคาดว่าในช่วงปลายปีงบประมาณ 2570 หนี้สาธารณะจะอยู่ที่ระดับ 61.25%ต่อจีดีพี