ประธานบอร์ดออมสิน แนะแบงก์เพิ่ม 3 บทบาท “ออมครบวงจร”

22 ธ.ค. 2565 | 14:28 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ธ.ค. 2565 | 21:27 น.

เปิดแนวคิด “ธีรัชย์ อัตนวานิช” ประธานบอร์ดออมสินคนใหม่ แนะเพิ่มเติม 3 บทบาทสำคัญ หนุนเป็นธนาคารเพื่อการออมครบวงจร

นายธีรัชย์ อัตนวานิช รองปลัดกระทรวงการคลัง ฐานะประธานคณะกรรมการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า หลังจากเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดออมสิน มีแนวคิดที่อยากจะให้ออมสินเพิ่มเติมบทบาทให้มีความเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ธนาคารก็ดำเนินการอยู่แล้ว ได้แก่

นายธีรัชย์ อัตนวานิช รองปลัดกระทรวงการคลัง ฐานะประธานคณะกรรมการธนาคารออมสิน

 

 

1. บทบาทเรื่องการออมก็ยังเป็นเรื่องสำคัญ โดยโจทย์ใหม่ที่จะต้องผลักดันจะเป็นเรื่องการออมเพื่อวัยเกษียณ โดยออมสินจะต้องเข้าไปสนับสนุนการออม และมีการจูงใจด้วยอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม รวมทั้งการให้ความรู้เกี่ยวกับการออม และการลงทุน ในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เพื่อเป็นการดูแลเรื่องการออมสำหรับผู้สูงอายุ และผู้เกษียณอายุ

 

2. การเป็นหน่วยงานที่เป็นแหล่งเงินให้กับรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการทำมาตลอด เวลาที่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) หาเงินกู้วงเงินใหญ่ๆ ในระยะสั้นๆ ธนาคารออมสินก็จะเข้ามาช่วยดูแลส่วนนี้ ซึ่งถือเป็นบทบาทที่สำคัญ

 

โดยบางเวลาที่ตลาดมีปัญหา หรือสภาพคล่องตรึงตัว หากออมสิน หรือกรุงไทยไม่ได้เข้ามาดูแลส่วนนี้เลย รัฐบาลก็จะหันไปแบงก์เอกชน ซึ่งอัตราดอกเบี้ยก็จะสูงขึ้น ดังนั้น การมีสถาบันการเงินของรัฐเป็น backstop ก็เป็นประโยชน์ ดังนั้น จึงถือเป็นอีกหนึ่งบทบาทของออมสิน ซึ่งต้องเข้าไปดูว่ามีอะไรที่สามารถเข้าไปดูแลให้ดีขึ้นได้อีก และเพิ่มน้ำหนักให้มากขึ้น

 

“หากมองแนวโน้มตลาดการเงินในอนาคตก็คงจะผันผวนขึ้น ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ได้มีการออกมาเตือน ซึ่งหลายๆ ประเทศตลาดการเงินก็มีความผันผวนมาก เช่น อเมริกา รวมทั้งการใช้นโยบายปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อลดความร้อนแรงของเงินเฟ้อ ซึ่งจะมีผลต่อตลาดมาก เพราะช่วงที่ผ่านมาที่เกิดโควิดปล่อยเงินเข้าระบบเยอะมาก”

 

3. การเป็น Market maker ของพันธบัตรออมทรัพย์ ซึ่งบางครั้งไม่มีสภาพคล่อง เมื่อประชาชนที่ซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ต้องการจะใช้เงินก็ไม่รู้จะขายให้ใคร หากออมสินเข้ามาดูแลทั้งตลาดแรกของรัฐบาล และตลาดรองของพันธบัตรออมทรัพย์ โดยอาจจะทำเป็นเคาน์เตอร์รับซื้อขายพันธบัตรออมทรัพย์ เป็นต้น ก็ถือเป็นอีกหนึ่งบทบาทของธนาคารเพื่อการออม

 

อย่างไรก็ดี ต้องไปดูรายละเอียดอีกครั้ง ว่าจะเข้าไปทำส่วนนี้เพิ่มได้อย่างไร โดยที่ผ่านมามีการออกพันธบัตรออมทรัพย์ไปมากกว่า ปีละ 1 แสนล้านบาท โดยพันธบัตรออมทรัพย์ที่อยู่ในมือของประชาชนมีมากกว่า 1 แสนล้านบาท

 

“การให้ออมสินเข้ามาเป็น Market maker ของพันธบัตรออมทรัพย์ เพราะอยากให้มีสภาพคล่องมากขึ้น เนื่องจากพันธบัตรออมทรัพย์อายุยาวๆ นักลงทุนไม่ค่อยกล้าซื้อ พันธบัตรออมทรัพย์จึงออกได้ไม่ยาวมาก ประมาณ 5-7 ปี ซึ่งออมสินจะต้องทำหน้าที่เต็มระบบทั้งการซื้อและการขาย เพราะประชาชนบางคนอยากจะซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ ในช่วงแรกอาจจะยังไม่มีเงิน ก็ให้สามารถเข้าไปซื้อในตลาดรองได้ สำหรับผู้ที่มีพันธบัตรออมทรัพย์ มีความจำเป็นต้องการใช้เงินก็สามารถเอามาขายได้ด้วย”

 

อย่างไรก็ดี ด้วยบทบาทการเป็นธนาคารเพื่อสังคม ที่ผ่านมาถือว่าออมสินทำหน้าที่ได้ดีมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเข้าไปทำธุรกิจจำนำทะเบียน เพื่อกดอัตราดอกเบี้ยในตลาดให้ต่ำลงมา รวมทั้งการเดินหน้าสินเชื่อที่ดิน ผ่านโครงการมีที่มีเงิน ซึ่งเข้าไปสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงสภาพคล่องได้มากยิ่งขึ้น และเร็วๆ นี้ ออมสินยังมีแนวคิดที่จะเดินหน้าธุรกิจพีโลน ปล่อยสินเชื่อเพื่อสนับสนุนให้รายย่อย พ่อค้าแม่ค้า เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากยิ่งขึ้น