ทำไม บจ.ต้องซื้อหุ้นคืน เปิดข้อดี -ข้อเสีย

20 ธ.ค. 2565 | 12:39 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ธ.ค. 2565 | 20:04 น.
1.4 k

รอบปี 65 พบว่ามี 8 บจ.ตั้งงบซื้อหุ้นคืน เป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 1 หมื่นล้านบาท ทำไม บจ.ต้องซื้อหุ้นคืน ข้อดีและข้อควรระวังที่นักลงควรรู้ หาคำตอบได้ที่นี่

 

 

การประกาศ"ซื้อหุ้นคืน" ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.)ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)เพื่อบริหารการเงิน (Treasury Stock) ยังมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง เช่น

 

บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร ( CPF) ประกาศใช้งบ 5,000 ล้านบาท ในการซื้อหุ้นคืน 200 ล้านหุ้น ตั้งแต่วันที่ 19 ธ.ค.65- 18 มิ.ย.66 , บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU ) ใช้งบ 3,000 ล้านบาท ซื้อหุ้นคืน 200 ล้านหุ้น ตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค.66- 30 มิ.ย. 66  ล่าสุด บมจ.ซิงเกอร์ประเทศไทย หรือ SINGER ตั้งวงเงิน 640 ล้านบาท เตรียมซื้อหุ้นคืนไม่เกิน 18 ล้านหุ้น หรือ 2.19% เริ่มวันที่ 23 ธ.ค.65 - 23 มี.ค.66 

 

โดยในรอบปี 2565  พบว่ามี  8 บริษัท ประกาศโครงการซื้อหุ้นคืน เป็นวงเงินทั้งสิ้น  10,250 ล้านบาท เพื่อบริหารสภาพคล่อง และเพื่อพยุงราคาหุ้นที่ปรับลดลงจนต่ำกว่าบุ๊คแวลู ไม่สะท้อนมูลค่าพื้นฐานที่แท้จริง

 

นายเอกพิทยา เอี่ยมคงเอก กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุน เอกการลงทุน จำกัด เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าหลายๆบจ.ที่ซื้อหุ้นคืน เนื่องจากเห็นว่าราคาหุ้นในตลาดตกจนต่ำกว่าบุ๊คแวลู ไม่สะท้อนศักยภาพผลประกอบการของบริษัท จากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา

 

การซื้อหุ้น จึงช่วยให้ราคาปรับขึ้นได้ในระดับหนึ่ง จากปริมาณหุ้นในตลาดที่ลดลง ตัวอย่าง กรณี บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ CPF แจ้งตลาดฯเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 65  วันรุ่งขึ้น  15-16 ธ.ค. 65 ราคาปรับขึ้นทันที 0.42% ,2.09% อยู่ที่  23.90 บาท และ 24.40 บาทตามลำดับ  ก่อนที่ราคาจะปรับลดลงอยู่ที่ 24.10 บาท เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.65 หรือลดลง 0.30%

 

"ส่วนจะได้ผล  ราคาหุ้นจะตอบสนองการดำเนินโครงการมาก-น้อยแค่ไหน  อาจเห็นผลในระยะสั้น ๆ  แต่ทั้งนี้การจะเข้าลงทุน นักลงทุนต้องศึกษาเงื่อนไขให้ดี เพราะมีข้อกำหนดที่อาจไม่รู้จึงต้องทำความเข้าใจ " นายเอกพิทยา กล่าว.  

 

สอดคล้องกับ นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด กล่าวว่าการซื้อหุ้นคืนของ บจ.ส่วนใหญ่ทำเพื่อรักษาดาวน์ไซด์ของราคาหุ้นเป็นหลัก ซึ่งผลทางอ้อมคือปริมาณหุ้นในตลาดจะลดลง เมื่อบริษัทมีกำไรและจ่ายปันผล ผู้ถือหุ้นก็จะได้รับผลตอบแทนปมากขึ้น ส่วนราคาหุ้นจะตอบสนองการดำเนินโครงการมาก-น้อยแค่ไหน นักลงทุนต้องดูว่าการประกาศดำเนินโครงการแต่ละครั้ง ผู้บริหารมีความจริงใจที่จะซื้อคืนหุ้นให้ครบตามจำนวนที่ประกาศหรือไม่

 

"บจ.ที่ประกาศซื้อหุ้นคืน  ราคาหุ้นจะตอบสนองในช่วงระยะเวลาเฉลี่ย 3-5 วัน จากนั้นราคาจะกลับไปเคลื่อนไหวตามปัจจัยพื้นฐานของแต่ละบริษัท ดังนั้น นักลงทุนควรพิจารณาบนพื้นฐานทางธุรกิจ การบริหารจัดการของฝ่ายบริหารเป็นหลัก รวมถึงความสำเร็จของการซื้อหุ้นคืนตามแผนการซื้อหุ้นในแต่ละโครงการ" 

 

ส่วนสาเหตุที่ บจ.ต้องซื้อหุ้นคืน ข้อดีและ ข้อเสีย ที่นักลงทุนต้องชั่งน้ำหนักให้ดี สามารถทำความเข้าใจรายละเอียดตามล่างนี้ ...

 

 

สาเหตุที่บริษัทตัดสินใจซื้อหุ้นคืน

 

  • เนื่องจากมองว่าราคาหุ้นที่ซื้อขายในตลาดปรับตัวลง จนต่ำกว่าบุ๊คแวลู และไม่สะท้อนมูลค่าพื้นฐานที่แท้จริง  จึงตัดสินใจเข้าซื้อหุ้นในตลาดกลับคืน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนในระยะสั้น และส่งสัญญาณให้รู้ว่าราคาหุ้นต่ำเกินไปแล้ว 
  • การซื้อหุ้นคืน ยังเป็นการปรับโครงสร้างทางการเงิน ในช่วงที่บริษัทมีกำไรสะสม หรือเงินสดในมือที่ยังไม่มีแผนจะนำเงินไปใช้ลงทุน ทำให้บริษัทเลือกที่จะนำเงินที่เหลือมาซื้อหุ้นคืน รวมทั้งการซื้อหุ้นคืน ยังสามารถทำให้อัตราส่วนทางการเงินดูดีขึ้น เพราะการลดจำนวนหุ้นในตลาด ทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity) ลดลง ส่งผลต่ออัตราส่วนทางการเงินเช่น EPS, ROE, P/E และ DPS ปรับขึ้นโดยอัตโนมัติ
  • นอกจากนี้ ยังเป็นแก้ปัญหาเมื่อผู้ถือหุ้นไม่เห็นด้วยกับนโยบายบริษัท เช่นไม่เห็นด้วยกับมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น เกี่ยวกับสิทธิในการออกเสียง หรือสิทธิในการรับเงินปันผล  การซื้อหุ้นคืนให้แก่ผู้ถือหุ้นดังกล่าว เพื่อลดจำนวนผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งจะทำให้บริษัทมีอำนาจในการตัดสินใจมากขึ้น

 

อย่างไรก็ดี  หุ้นที่ซื้อคืน จะถือไว้ได้แค่ชั่วคราวเท่านั้น เพราะท้ายที่สุดบริษัทต้องขายออกไปในเวลาที่กำหนด คือ เมื่อถือหุ้นเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน และนานสุดไม่เกิน 3 ปี ถ้าบริษัทไม่นำกลับมาขายในกระดานหลักของตลาดหลักทรัพย์ หรือเสนอขายต่อประชาชนทั่วไป ก็จะต้องดำเนินการลดทุน ด้วยการตัดหุ้นจดทะเบียนที่ซื้อคืนทิ้งไป

 

ข้อดี ในการซื้อหุ้นคืน

 

  • ราคาหุ้นมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น  จากจำนวนหุ้นในตลาดลดลง (Supply) และเกิดความคาดหวังของตลาดในระยะสั้นที่มองว่าหุ้นควรเป็นขาขึ้นจากการที่มีเงินของนักลงทุนรายใหญ่มาไล่ซื้อหุ้น
  • กำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) เพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างเช่น บริษัทมีกำไร 100 ล้านบาท มีจำนวนหุ้นในตลาด 5 ล้านหุ้น แปลว่ากำไรต่อหุ้นเท่ากับ 20 บาทต่อหุ้น แต่เมื่อบริษัทประกาศซื้อหุ้นคืน จำนวน 1 ล้านหุ้น ทำให้จำนวนหุ้นในตลาดเหลือ 4 ล้านหุ้น   หากบริษัทยังทำกำไรได้เท่าเดิม แปลว่ากำไรต่อหุ้นจะเพิ่มเป็น 25 บาทต่อหุ้น
  • เงินปันผลต่อหุ้นเพิ่มขึ้น เนื่องจากจะมีจำนวนผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับปันผลหายไป ทำให้เงินปันผลต่อหุ้น (Dividend Per Share) เพิ่มขึ้น
  •  อัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) เพิ่มขึ้น เพราะส่วนของผู้ถือหุ้นที่เป็นตัวหารถูกปรับลดลง ทำให้ ROE สูงขึ้นโดยอัตโนมัติ
  •  สะท้อนถึงความมั่นใจของผู้บริหารต่อตัวบริษัท เนื่องจากถึงขนาดยอมควักเงินซื้อหุ้นตัวเองกลับคืนมา

 
 

ข้อควรระวัง

 

  • อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) เพิ่มขึ้น ทำให้อาจกระทบต่อความเสี่ยงเรื่องหนี้สิน และข้อจำกัดในการขยายธุรกิจในอนาคต
  • เสียโอกาสสร้างการเติบโต เพราะการที่บริษัทเลือกนำเงินมาซื้อทุน แทนที่จะนำไปลงทุนโครงการต่าง ๆ เพื่อขยายธุรกิจ 
  • สภาพคล่องของหุ้น (Free Float) ลดลง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นอย่างมาก โดยเฉพาะกับบริษัทขนาดเล็กที่มีปริมาณหุ้นหมุนเวียนในตลาดน้อยอยู่แล้ว
  • โดนตัวเลขทางการเงินหลอกตา หลังการซื้อหุ้นคืน นักลงทุนต้องดูผลประกอบการให้ดี เพราะอัตราส่วนทางการเงินต่าง ๆ ที่ดูดีขึ้นนั้น บางทีอาจจะไม่ได้เติบโตจริง ๆ ก็ได้ เช่น บริษัทซื้อหุ้นคืนที่ 10% ของทุน แปลว่ากำไรต่อหุ้นจะเพิ่มขึ้น 10% อัตโนมัติ เพราะฉะนั้น ถ้ากำไรต่อหุ้นโตไม่ถึง 10% ก็แปลได้ว่าธุรกิจมีการชะลอตัวลง