'เจพีมอร์แกน' เตือนตลาดหุ้นอาเซียนปี 66 ผันผวนแบบ 'บันจี้จัมป์'

13 ธ.ค. 2565 | 14:16 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ธ.ค. 2565 | 21:50 น.

‘เจพีมอร์แกน’ วิเคราะห์ตลาดหุ้นในอาเซียนปี 66 รวมไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ จะเผชิญความผันผวนแบบ ‘บันจี้จัมป์’ เป็นอย่างไร ไปดูกัน

 

ทีมนักวิเคราะห์ของ ‘เจพีมอร์แกน’ ธนาคารใหญ่สุดของสหรัฐอเมริกา เผย ผลวิเคราะห์ตลาดหุ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ซึ่งรวมถึง ตลาดหุ้นไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ในปี 2566 จะเผชิญกับ ความผันผวนแบบ ‘บันจี้จัมป์’ (bungee jump) คือคาดว่าจะดิ่งลงอย่างเร็ว ก่อนดีดกลับขึ้นมาในช่วงครึ่งหลังของปี แล้วดิ่งลงอีกจนถึงจุดต่ำสุด สภาวะดังกล่าวถือเป็นความผันผวนหนัก เรามาดูกันว่า สภาวะตลาดหุ้นผันผวนแบบบันจี้จั๊มป์นั้น เป็นอย่างไร  

 

โดย นิยามของภาวะบันจี้จัมป์ นั้นหมายถึง การที่ตลาดจะทิ้งตัวดิ่งลงอย่างรวดเร็วก่อนที่จะดีดกลับสูงขึ้นมา แต่จากนั้นก็จะดิ่งลงอีกจนถึงระดับต่ำที่สุด ซึ่งภาวะดังกล่าวเกิดจากกำลังซื้อที่หดตัวลง ท่ามกลางบริบทที่นโยบายการเงินถูกรวบตึงอีกครั้งด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ต้นทุนกู้ยืมขยับสูงขึ้น ขณะที่การออมลดลง   

‘เจพีมอร์แกน’ เตือนตลาดหุ้นอาเซียนปี 66 ผันผวนแบบ ‘บันจี้จัมป์’

 

ทีมนักวิเคราะห์ของเจพีมอร์แกน ซึ่งนำโดยนายนาจิฟ บาตรา เปิดเผยรายงานชิ้นล่าสุดระบุว่า ดัชนี MSCI ASEAN Index ของอาเซียนจะดิ่งลงทดสอบจุดต่ำสุดของปีนี้ และมีแนวโน้มที่จะร่วงต่อลงไปอีกในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 โดยมีหลายปัจจัยทำให้ถ่วงดิ่งลงมา ไม่ว่าจะเป็น

  • ผลกระทบจากอุปสงค์ในต่างประเทศที่ชะลอตัวลง
  • การใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินซึ่งรวมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
  • และแรงบวกในช่วงเปิดประเทศที่แผ่วลง

 

ส่วนสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปีนี้ (2565) นั้น ในเดือนต.ค.ที่ผ่านมา ดัชนี MSCI ASEAN Index ร่วงลง 22% แตะระดับต่ำสุดในปีนี้ ก่อนที่จะดีดตัวขึ้นราว 10% ในเวลาต่อมา อันเนื่องมาจากความหวังที่ว่าจีนจะเปิดประเทศ และธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ย

 

ดัชนีดังกล่าว (MSCI ASEAN Index) วัดผลประกอบการของตลาดหุ้นที่มีขนาดมูลค่าตลาดในระดับใหญ่และกลางใน 4 ประเทศอาเซีย ประกอบด้วยอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม

 

นักวิเคราะห์ของเจพีมอร์แกนคาดว่า เศรษฐกิจของประเทศที่ต้องพึ่งพาการค้า เช่น ไทย สิงคโปร์ เวียดนาม และมาเลเซีย จะได้รับผลกระทบ “มากเป็นพิเศษ” จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความต้องการสินค้าคงทน (durable goods) ที่ชะลอตัวลง

 

หันมองประเทศไทย ปัจจัยลบ-บวก

ในส่วนของประเทศไทย เจพีมอร์แกนคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของ...

  • ยอดส่งออก
  • การลงทุนในภาคเอกชน
  • การผลิต

 

ทำให้คาดการณ์ว่า การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไทยในปี 2566 จะลดลงมาอยู่ที่ 2.7% จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 3.3%

 

อ่านเพิ่มเติม: เจพี มอร์แกน มอง "ไทย-ญี่ปุ่น" คือจุดอ่อนในเอเชีย

\'เจพีมอร์แกน\' เตือนตลาดหุ้นอาเซียนปี 66 ผันผวนแบบ \'บันจี้จัมป์\'

 

เทียบกับกรณีของสิงคโปร์ รายงานของเจพีมอร์แกนคาดว่า เศรษฐกิจมหภาคของสิงคโปร์จะเผชิญกับความท้าทายมากขึ้น ซึ่งรวมถึงความอ่อนแอของอุปสงค์ในต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้การผลิตสินค้าของสิงคโปร์อ่อนแรงลงด้วย นอกจากนี้ คาดว่าการที่รัฐบาลสิงคโปร์ปรับขึ้นภาษีสินค้าและการบริการจากระดับ 7% เป็น 8% จะยิ่งส่งผลกระทบต่อแนวโน้มอุปสงค์และการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ

 

อย่างไรก็ดี เจพีมอร์แกนคาดว่า หากจีนเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งรวมถึงการเปิดต้อนรับเที่ยวบินต่างประเทศ ก็จะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยและสิงคโปร์ด้วย

 

แต่ทั้งนี้ สิ่งที่อาจจะเป็นอุปสรรคสำหรับการเด้งขึ้นหรือดีดตัวกลับทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในวงจรบันจี้จัมป์ คือ ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นทั่วโลกในปีหน้า ทำให้เกิดข้อจำกัดและส่งผลต่อการกระเตื้องขึ้นของอุปสงค์จากภายนอกที่จะพลอยแผ่วลงไปด้วย