SAM คงดอกเบี้ยเงินกู้เอ็นพีแอล ยาวถึงกลางปี 66

07 ธ.ค. 2565 | 17:25 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ธ.ค. 2565 | 00:25 น.

SAM ประกาศคงดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าปรับโครงสร้างหนี้ทุกราย ยาวถึงกลางปี 66 พร้อมออกโครงการเร่งด่วน ช่วยลูกค้าสินเชื่อบ้านอีกนับพันราย เตรียมขายหุ้นกู้ 2,500 ล้านบาทกลางเดือนธ.ค. ชูอันดับเครดิตองค์กรที่ AA+ แนวโน้ม Stable

 

ในที่สุดการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งสุดท้ายของปีก็มีมติเอกฉันท์ ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย อีก 0.25% ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 ตามที่ตลาดคาดการณ์ ส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายของไทยขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 1.25% ต่อปี พร้อมปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยปี 2565 จากเดิม 3.3% เหลือ 3.2% และปี 2566 จากเดิม 3.8% เหลือ 3.7%

 

นายธรัฐพร เตชะกิจขจร กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์ สุขุมวิท จำกัด  (บสส.) หรือ SAM เปิดเผยว่า SAM ได้ออกมาตรการ คงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้าปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกค้าในอัตราเดิมจนถึงเดือนมิถุนายน 2566 เพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจและประสบปัญหาด้านเครดิตให้สามารถกลับมาพลิกฟื้นอยู่รอดได้ แม้กนง.จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายก็ตาม

นายธรัฐพร เตชะกิจขจร กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์ สุขุมวิท จำกัด (บสส.)

 

ทั้งนี้ วิกฤตที่เกิดขึ้นในรอบ 2-3 ปีจากหลากหลายปัจจัยลบที่สร้างความผันผวนให้เศรษฐกิจไทย ส่งผลให้มีความเปราะบางและภาคครัวเรือนอ่อน SAM ในฐานะบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ภาครัฐที่เป็นเครื่องมือสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพเพื่อช่วยดูแลยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยมามากกว่า 20 ปี จึงเล็งเห็นความสำคัญของการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน

 

นอกจากมาตรการคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้าปรับโครงสร้างหนี้ของ SAM ทุกรายแล้ว SAM มีความเข้าใจและห่วงใยกลุ่มลูกค้ารายย่อยที่มีความเปราะบาง โดยเฉพาะลูกค้าสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Housing Loan) อีกนับพันรายที่กำลังเดือดร้อน มีรายได้น้อย และมีความอ่อนไหวเรื่องค่าครองชีพหรือมีความยากลำบากสูงในการดำเนินชีวิต

 

ดังนั้น SAM จึงได้มีโครงการพิเศษเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือประคับประคอง และบรรเทาความเดือดร้อนของลูกค้าปรับโครงสร้างหนี้เหล่านี้ ให้สามารถอยู่รอดได้ ด้วยเงื่อนไขที่ผ่อนปรนและพิเศษยิ่งขึ้น ดังนั้น ลูกค้าปรับโครงสร้างหนี้ของ SAM ที่ได้รับจดหมายเชิญเข้าร่วมโครงการ สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ของท่านโดยตรง เพื่อตอบรับการเข้าร่วมโครงการ

 

นอกจากนั้น SAM ยังจะเสนอขายหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันในวงเงินประมาณ 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนภายใน 7 ปี ซึ่งจากการนำเสนอข้อมูลต่อนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่พบว่า ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยมีนักลงทุนสนใจเข้าร่วมรับฟังข้อมูลจำนวนมาก สะท้อนความเชื่อมั่นที่มีต่อ SAM  โดยคาดว่า จะนำเสนอขายช่วงกลางเดือนธันวาคมนี้

 

ขณะเดียวกัน เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมาบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด (Tris Rating) ประกาศการจัดอันดับเครดิตองค์กร SAM ที่ระดับ AA+ ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 นับตั้งแต่ปี 2563  อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานะของ SAM ซึ่งเป็นองค์กรที่มีความสำคัญ (Importance) กับภาครัฐในระดับ “สำคัญมาก” (Very Important) และมีความสัมพันธ์ (Linkage) ในระดับ “สูงสุด” (Integral) กับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) จากเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตองค์กรที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ

SAM คงดอกเบี้ยเงินกู้เอ็นพีแอล ยาวถึงกลางปี 66

“ความสัมพันธ์และความสำคัญของ SAM ที่มีต่อ FIDF และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้รับการสนับสนุนจากบทบาทในการเป็นตัวแทนของธปท. ในการดำเนินนโยบายที่สำคัญในฐานะบริษัทบริหารสินทรัพย์ของรัฐเพียงแห่งเดียวที่มีหน้าที่ช่วยรักษาเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินด้วยการเข้าซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างที่สำคัญในการรับมือกับหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นมากในระบบสถาบันการเงินผ่านการปรับโครงสร้างหนี้”นายธรัฐพรกล่าว

 

นอกจากนั้น SAM ยังมีบทบาทที่เด่นชัดอีกบทบาทหนึ่งคือ การเป็นหน่วยงานกลางในการดำเนินการ “โครงการคลินิกแก้หนี้” ซึ่งริเริ่มโดย ธปท. เพื่อส่งเสริมการปรับโครงสร้างหนี้โดยสมัครใจสำหรับลูกค้ารายย่อยที่เป็นหนี้เสียบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันอีกด้วย

 

“ปรัชญาการดำเนินธุรกิจของ SAM นำหลักคิดจากโครงการในพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 “โครงการแก้มลิง” ที่เปรียบเสมือนการดูดซับหนี้เสียของประเทศมาเก็บไว้ในบ่อพัก “บ้าน SAM” และบำบัดหนี้เสียเหล่านั้น ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้และบริหารสินทรัพย์เหล่านั้นให้มีคุณภาพผ่าน “กังหันน้ำชัยพัฒนา” เพื่อช่วยเหลือลูกค้าสามารถกลับมาพลิกฟื้น อยู่รอด อยู่ได้ อยู่เติบโต อยู่ยั่งยืน อย่างมีคุณภาพ ซึ่งจะส่งผลต่อความมั่นคงของระบบสถาบันการเงินและเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม” นายธรัฐพรกล่าวทิ้งท้าย

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,841 วันที่ 4 - 7 ธันวาคม พ.ศ. 2565