เจาะปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย จะรับมืออย่างไร เมื่อต้นทุนกำลังเพิ่มขึ้น

12 พ.ย. 2565 | 16:11 น.
อัปเดตล่าสุด :12 พ.ย. 2565 | 23:11 น.

เจาะปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย...จะรับมืออย่างไรเมื่อต้นทุน (ดอกเบี้ย) กำลังเพิ่มขึ้น? :คอลัมน์ ยังอีโคโนมิสต์ โดย พิมฉัตร เอกฉันท์ ผู้เชี่ยวชาญ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี

 

ภายหลังจากเศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนขึ้นตั้งแต่ต้นปีจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศและการฟื้นฟูความเชื่อมั่นเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างเต็มรูปแบบ สอดคล้องกับระดับหนี้ครัวเรือนที่เติบโตต่ำสุดในรอบ 5 ปีที่ระดับ 3.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YOY) ในไตรมาส 2 ปี 2565

 

ทำให้ภาพรวมสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีไทยปรับลดลงมาที่ระดับ 88.2% จากระดับสูงสุดในไตรมาส 1 ปี 2564 ที่อยู่ที่ 90.8% ด้านคุณภาพสินเชื่อก็ดีขึ้นตามลำดับจากสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ต่อสินเชื่อรวมที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 3.23% ในไตรมาส 1 ปี 2563 มาอยู่ที่ 2.69% ในไตรมาส 2 ปี 2565

 

อย่างไรก็ดี สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยยังค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับหลาย ๆ ประเทศ โดยระดับหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีไทยสูงที่สุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและสูงเป็นอันดับ 2 ในเอเชียรองจากเกาหลีใต้ อีกทั้งยังสูงใกล้เคียงกับประเทศพัฒนาแล้วได้แก่ อังกฤษ สวีเดน รวมถึงสหรัฐอเมริกา ซึ่งนั่นหมายความว่าหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยอยู่ในระดับสูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศที่มีรายได้ต่อหัว(GDP per capita) ใกล้เคียงกัน

 

อีกทั้งยังปฏิเสธไม่ได้ว่าที่สัดส่วน NPLs ในปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ที่ออกมาในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด-19 ซึ่งช่วยประวิงเวลาในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการฟื้นตัว ชะลอความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ 

ทั้งนี้ จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า แม้สัดส่วนจำนวนครัวเรือนที่มีหนี้เมื่อเทียบกับครัวเรือนทั้งหมดมีแนวโน้มลดลงจาก 55.8% ในปี 2554 เป็น 52.7% ในปี 2564 แต่หากพิจารณาขนาดของหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 50% จาก 134,900 บาท เป็น 208,733 บาท ภายในระยะเวลาเพียง 10 ปี 

 

จึงอาจกล่าวได้ว่า รายจ่ายที่นับวันจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะหลัง สวนทางกับรายได้ครัวเรือนที่โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเพียงปีละ 2% ทำให้ครัวเรือนที่มีภาระหนี้เดิมอยู่แล้วจำเป็นต้องกู้หนี้ยืมสินเพิ่มเพื่อพยุงสภาพคล่องและฐานะทางการเงินจนกลายเป็นหนี้พอกพูนไม่รู้จบ

 

หลายคนคงสงสัยว่า ทำไมหนี้ครัวเรือนของไทยถึงอยู่ในระดับสูงเช่นนี้  ประการแรกคงหนีไม่พ้นพฤติกรรมการใช้จ่ายเกินตัวจนเป็นหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย โดยหนี้ครัวเรือนไทยกว่า 30% หรือราว 4.2 ล้านล้านบาท เป็นการก่อหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล เช่น สินเชื่อบัตรเครดิต ลิสซิ่ง และสินเชื่อส่วนบุคคล เมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วที่ไม่เกิน 10%

 

ซึ่งหนี้ประเภทดังกล่าวมักถูกนำมาใช้เพื่อบรรเทาปัญหารายได้ไม่สมดุลกับภาระค่าใช้จ่าย และเป็นช่องทางเพิ่มสภาพคล่องระยะสั้น จึงไม่ใช่การก่อหนี้ให้เกิดการสร้างความมั่งคั่งในอนาคต

เจาะปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย จะรับมืออย่างไร เมื่อต้นทุนกำลังเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ การใช้จ่ายประเภท “ของมันต้องมี” ในยุคที่สื่อสังคมออนไลน์มีบทบาทกับชีวิตคนเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กระตุ้นให้เกิด “ความอยาก” มากกว่า “ความจำเป็น” อีกทั้งการออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่มีความหลากหลายเจาะตลาดผู้ที่อายุน้อยลงจากการแข่งขันของสถาบันการเงิน ทำให้การเข้าถึงสินเชื่อทำได้ง่ายกว่าในอดีต 

 

เมื่อครัวเรือนก่อหนี้แล้ว… กลับบริหารจัดการอย่างผิดวิธี เช่น การชำระหนี้ในอัตราขั้นต่ำหรือไม่เต็มจำนวนเป็นประจำ การผิดนัดชำระหนี้บ่อยครั้ง หรือแม้แต่การใช้บัตรเครดิตกดเงินสดเพื่อเสริมสภาพคล่องหรือโปะหนี้ก้อนอื่น สอดคล้องกับผลสำรวจของ ธปท. ในปี 2563 ที่พบว่า 21.7% เป็นผู้ที่เคยชำระหนี้บัตรเครดิตหรือบัตรกดเงินสดชำระไม่เต็มจำนวนหรือล่าช้า และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามช่วงอายุที่ลดลง

 

เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงการขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างรุนแรง ซึ่งนอกจากจะไม่ได้ทำให้จำนวนหนี้สินลดลงแล้ว ผู้กู้ยังต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยแบบทบต้นทบดอกรายวันที่สูงกว่าอัตราปกติ และอาจทำให้เสียประวัติทางการเงินซึ่งยากต่อการเข้าถึงสินเชื่อที่จำเป็นในอนาคต ทำให้บางส่วนหันไปพึ่งสินเชื่อนอกระบบ จนกลายเป็นภาระหนี้ผูกพันระยะยาว หรือที่เรียกว่า “กับดักหนี้” ได้ในที่สุด

 

ยิ่งกว่านั้น หลายคนเงินใช้จ่ายไม่มี เงินเก็บไม่ต้องพูดถึง โดยข้อมูลจากแบบสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (SES) ที่สำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ชี้ว่า ครัวเรือนไทยมีอัตราการออมลดลงในทุกกลุ่มรายได้ในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา ขณะที่รายงานผลสำรวจทักษะทางการเงินของไทยปี 2563 ยังพบว่า คนไทยโดยเฉลี่ยกว่า 1 ใน 4 ไม่มีเงินออม และเกินกว่า 60% มีเงินออมเพียงพอสำหรับการใช้จ่ายยามฉุกเฉินน้อยกว่า 3 เดือน

 

ซึ่งหากพิจารณาควบคู่กับข้อมูลบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์บุคคลธรรมดาของระบบธนาคารพาณิชย์ก็เห็นได้ว่ามูลค่าเงินฝากในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์บุคคลธรรมดาลดลงถึง 17.4% นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 จาก 3 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2562 เป็น 2.32 ล้านล้านบาทในเดือนสิงหาคม 2565

 

ขณะที่จำนวนบัญชีออมทรัพย์ซึ่งกว่า 90% เป็นบัญชีที่มียอดเงินไม่เกิน 5 หมื่นบาทนั้น พบว่า มูลค่าเงินเฉลี่ยต่อบัญชีลดลงจาก 4.4 พันบาท เหลือไม่ถึง 4.2 พันบาทต่อบัญชี ซึ่งสะท้อนว่าประชาชนจำเป็นต้องนำเงินออมออกมาเพื่อใช้จ่ายในช่วงวิกฤต ส่งผลให้ฐานะทางการเงินของครัวเรือนมีความเปราะบางสูง และอาจไม่สามารถรับมือกับปัญหาทางการเงินหรือความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

 

คงต้องยอมรับว่า ตราบใดที่เศรษฐกิจฐานรากยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึงและแข็งแกร่ง ระดับราคาสินค้าและบริการทรงตัวอยู่ในระดับสูง ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ก็จะยังไม่กลับมาเป็นปกติ และคาดว่าภาระหนี้ที่สูงจะยังคงเป็นปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจต่อไป

 

ท่ามกลางข้อจำกัดด้านนโยบายการคลังที่มากขึ้นจากหนี้สาธารณะของไทยที่เข้าใกล้กับระดับเพดานใหม่ในปัจจุบัน ขณะที่อัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ก็กำลังเข้าสู่แนวโน้มขาขึ้นตามทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และน่าจะทยอยขยับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2566

 

ฉะนั้นแล้ว ประชาชนและครัวเรือนคงต้องเตรียมรับมือกับต้นทุนดอกเบี้ยผ่านการกู้ยืม รวมถึงภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นภายใต้ความไม่แน่นอนรอบด้าน สิ่งที่สำคัญที่สุดนอกเหนือจากการเร่งเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย การเข้าร่วมโครงการรวมหนี้ ตลอดจนการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว

 

การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับ “ความรู้ความเข้าใจทางการเงิน” (Financial Literacy) จะช่วยให้ครัวเรือนสามารถบริหารจัดการทางการเงินและหนี้สินในระยะสั้นอย่างมีประสิทธิภาพ เสริมสร้างคุณภาพชีวิตและการเงินให้มีความมั่นคงแข็งแกร่งขึ้นได้ในระยะยาวอีกด้วย