ECB ประกาศขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ตามคาด แม้เพิ่มความเสี่ยงศก.ถดถอย

28 ต.ค. 2565 | 05:42 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ต.ค. 2565 | 13:35 น.

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมวานนี้ (27 ต.ค.) ตามการคาดหมายของตลาด และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกัน

 

แถลงการณ์ของ ธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB ระบุว่า ที่ประชุมได้มีมติ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% เมื่อวันพฤหัสฯ (27 ต.ค.) และให้คำมั่นจะขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องเพื่อควบคุม เงินเฟ้อ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยของ 19 ประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโรหรือ ยูโรโซน ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 1.5% นับเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมา 3 ครั้งติดต่อกัน แม้ว่ามาตรการนี้จะทำให้กลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) เสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจก็ตาม

 

ก่อนหน้านี้ ECB ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมา 2 ครั้งติดกันแล้ว คือ

  • การปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนก.ค.
  • และ 0.75% ในเดือนก.ย. ที่ผ่านมา
  • ตามด้วยล่าสุด 0.75% ในเดือนต.ค.

 

โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ค.นั้น ถือเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปีของ ECB และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา

 

นางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) เคยกล่าวไว้ว่า การดำเนินการของ ECB อาจจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ก็จำเป็นจะต้องให้ความสำคัญสูงสุดต่อการรักษาเสถียรภาพของราคา

 

"มีความเป็นไปได้ที่การดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยอาจจะกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่นี่เป็นความเสี่ยงที่เราจำเป็นต้องรับไว้ เนื่องจากการรักษาเสถียรภาพของราคาถือเป็นหลักการพื้นฐานสำคัญ" นางลาการ์ดกล่าว และว่า ในการกำหนดนโยบายการเงิน ECB จะต้องพิจารณาทุกองค์ประกอบที่ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อ รวมทั้งความเสี่ยงที่จะกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ECB ให้ความสำคัญสูงสุดต่อการรักษาเสถียรภาพของราคา

 

ทั้งนี้ สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของยูโรโซนพุ่งขึ้นสู่ระดับ 9.9% ในเดือนก.ย. จากระดับ 9.1% ในเดือนส.ค. และสูงกว่าระดับ 2% ซึ่งเป็นเป้าหมายของ ECB มาหลายเดือนแล้ว โดยเฉพาะในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ราคาพลังงานและอาหารขยับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งมีปัญหาการชะงักงันทางการขนส่งสินค้า อุปสงค์ที่สูงขึ้นในยุคหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการปรับขึ้นราคาสินค้าแทบทุกกลุ่ม

 

วิกฤตด้านพลังงานในอียูนั้น เริ่มต้นจากการบุกยูเครนของรัสเซียในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และได้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจต่างๆ เช่น ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ขณะเดียวกัน ราคาสินค้าและบริการที่สูงขึ้นได้ส่งผลกระทบทางการเงินของภาคครัวเรือน และค่าครองชีพในภาพรวม

 

รายงานข่าวระบุว่า ในการประชุมครั้งล่าสุดวานนี้ (27 ต.ค.) ECB ยังมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสู่ระดับ 1.50% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2552 จากเดิมอยู่ที่ระดับ 0.75%