"หุ้นแบงก์ใหญ่"ดีดตัว ขานรับกนง.ขึ้นดอกเบี้ย เช็กลงทุนหุ้นแบบไหนดี

29 ก.ย. 2565 | 12:55 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ก.ย. 2565 | 20:05 น.

"หุ้นแบงก์ใหญ่"ปรับขึ้นยกแผง ขานรับ กนง. ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% โบรกให้น้ำหนักกลุ่มธนาคาร "มากกว่าตลาด" เช็กเลย! เลือกซื้อหุ้นแบบไหน ช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น

จากวานนี้ ( 28 ก.ย.) มติคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เห็นชอบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.00% ต่อปี และธนาคารกรุงเทพ นำร่องประกาศขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก-เงินกู้ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 29 ก.ย.นี้ 

 

การเคลื่อนไหวของราคาหุ้นกลุ่มแบงก์ใหญ่ เปิดตลาดวันนี้ ( 29 ก.ย.) ปรับขึ้นยกแผง โดยเมื่อเวลา 12.12 น.

 

  • ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน ) หรือ BBL ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 139.50 บาท บวก 3.50 บาท หรือ + 2.57% สูงสุดที่ระดับ 139.50 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 138.00 บาท มูลค่าการซื้อขาย 1,102.23 ล้านบาท
  • ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 16.90 บาท บวก 0.30 บาท หรือ +1.81% สูงสุดที่ระดับ 16.90 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 16.70 บาท มูลคำการซื้อขาย 87.16 ล้านบาท
     

  • หุุ้นธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 146.50 บาท บวก 3.00 บาท หรือ +2.09% สูงสุดที่ระดับ 146.50 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 144.00 บาท มูลค่าการซื้อขาย 1,162.55 ล้านบาท

  • หุ้นบริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 106.00 บาท บวก 2.50 บาท หรือ +2.42% สูงสุดที่ระดับ 106.00 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 104.50 บาท มูลค่าการซื้อขาย 727.89 ล้านบาท

 

บริษัทหลักทรัพย์(บล.)คาโอ (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ ว่า มีมุมมองกลุ่มธนาคาร Overwieght หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% มาอยู่ที่ 1.00%

 

สำหรับธนาคารขนาดใหญ่ที่ได้ประโยชน์จากมาก-น้อยคือ BBL, KTB, KBANK และ SCB  แนะนำซื้อหุ้น  BBL ที่ราคาเป้าหมาย 167.00 บาท เนื่องจากได้ประโยชน์จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นมากที่สุด ขณะที่กลุ่มธนาคารยังคงให้น้ำหนัก "มากกว่าตลาด"

 

โดย Top pick เลือกหุ้น  KTB แนะนำ "ซื้อ" ราคาเป้าหมาย 1800 บาท และ KBANK แนะนำ "ซื้อ" ราคาเป้าหมาย 190.00 บาท

 

ด้านตลาดหลักทรัพย์ฯ ระบุในบทวิเคราะห์ "ดอกเบี้ยขาขึ้น ลงทุนหุ้นอะไรดี? "ว่า แม้ในช่วงที่ดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น จะกระทบต่อภาพรวมการลงทุน และทำให้ตลาดหุ้นมีเสน่ห์น้อยลงไปบ้าง แต่ก็มีหุ้นในบางอุตสาหกรรม หุ้นบางลักษณะ ที่ได้รับประโยชน์จากการปรับขึ้นดอกเบี้ย ได้แก่

 

หุ้นธนาคารและประกันชีวิต
         

ธนาคารและประกันชีวิต คือ กลุ่มธุรกิจที่จะได้ประโยชน์โดยตรงจากการปรับขึ้นดอกเบี้ย เนื่องจากรายได้ส่วนใหญ่ของธุรกิจธนาคารพาณิชย์มาจากการปล่อยสินเชื่อ และทำกำไรจาก Net Interest Margin: NIM ซึ่งเป็นส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินกู้กับดอกเบี้ยเงินฝาก โดยทั่วไปแล้วดอกเบี้ยเงินกู้จะขึ้นเร็วกว่าเงินฝากเสมอ จึงมีโอกาสทำกำไรที่มากขึ้นในช่วงนี้

           

ธุรกิจประกันชีวิตที่มีโอกาสทำกำไรได้สูงขึ้น จากการนำเบี้ยประกันไปลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนในสินทรัพย์ต่าง ๆ เช่น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ ดังนั้น ถ้าดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้น แปลว่าผลตอบแทนจากการลงทุนก็จะสูงขึ้นด้วยนั่นเอง

           

ถือว่าเป็น 2 กลุ่มธุรกิจที่มีโอกาสได้รับผลบวกจากการขึ้นดอกเบี้ยโดยตรง แต่ไม่ได้แปลว่าหุ้นทุกตัวในกลุ่มจะได้รับประโยชน์เท่ากันหมด นักลงทุนต้องเข้าไปศึกษาพอร์ตสินเชื่อ และพอร์ตการลงทุน ในแต่ละบริษัทก่อนว่าเป็นอย่างไร

 

หุ้นสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีวิต

           

ประกอบด้วย อาหาร ยารักษาโรค บริการทางการแพทย์ สินค้าอุปโภคที่จำเป็นอย่าง สบู่ แชมพู ยาสีฟัน และสาธารณูปโภคพื้นฐานต่าง ๆ เช่น ไฟฟ้า แก๊ส น้ำมัน น้ำประปา เป็นต้น แม้จะไม่ได้รับประโยชน์จากการขึ้นดอกเบี้ยตรง ๆ แต่ถือว่าธุรกิจไม่ได้รับผลกระทบเชิงลบมากนัก จึงเหมาะกับการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงในช่วงนี้

           

ความน่าสนใจของหุ้นกลุ่มนี้ คือ อำนาจต่อรองในการกำหนดราคาสินค้า และสามารถผลักภาระต้นทุนบางส่วนไปยังผู้บริโภคได้ เพราะเป็นสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ จึงลดแรงกระแทกในยามที่ต้นทุนสูงขึ้นจากทั้งเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ย

 

หุ้นหนี้สินต่ำ เงินสดในมือสูง 

           

เมื่อดอกเบี้ยปรับตัวขึ้น ภาระหนี้ของบริษัทก็จะสูงขึ้นตาม บริษัทที่มีหนี้เยอะหรือขาดกระแสเงินสด จะเสียเปรียบอย่างมากต่อการขยายธุรกิจ ยิ่งถ้าบริษัทมีรายได้เท่าเดิม ก็จะส่งผลต่อแนวโน้มกำไรในอนาคตที่ลดลงด้วย เพราะมีรายจ่ายจากต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

           

เพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุน ควรเน้นหุ้นคุณภาพที่มีความปลอดภัยสูง สังเกตง่าย ๆ จากธุรกิจที่มีภาระหนี้สินต่ำ โดย D/E Ratio ไม่ควรเกิน 2 เท่า รวมถึงมองหาบริษัทที่มีกระแสเงินสดสุทธิเป็นบวก (Net Cash Flow) ซึ่งสะท้อนถึงการมีเงินสดจากการดำเนินงาน มีเงินสดจากการลงทุน การกู้ยืมและภาระดอกเบี้ยต่ำ ทั้งนี้ หุ้นที่มีฐานะทางการเงินแข็งแกร่งอยู่แล้ว จะมีความสามารถที่จะสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะถูกกดดันจากนโยบายทางการเงินก็ตาม