ครม.เคาะแผนก่อหนี้ใหม่ 1.05 ล้านล้าน ลงทุนสารพัดโครงการรัฐบาล-รัฐวิสาหกิจ

27 ก.ย. 2565 | 14:54 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ก.ย. 2565 | 22:00 น.

ครม. ไฟเขียวแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2566 กำหนดแผนการก่อหนี้ใหม่ 1.05 ล้านล้านบาท ทั้ง การก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาล และการก่อหนี้ใหม่ของรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐ เพื่อใช้ลงทุนหลายโครงการ เช็ครายละเอียดที่นี่

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ มีมติอนุมัติแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2566 ตามที่คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ เสนอ

 

ทั้งนี้ตามแผนได้มุ่งเน้นการดำเนินนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และรองรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่เกิดจากความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมไปถึงสถานการณ์ความไม่สงบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน

สำหรับแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2566 มีรายละเอียด ดังนี้ 

 

1.แผนการก่อหนี้ใหม่ วงเงิน 1,052,785.47 ล้านบาท ได้แก่ 

  • การก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาล วงเงิน 819,765.19 ล้านบาท เป็นการกู้เพื่อขาดดุลงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 วงเงิน 695,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการกู้เพื่อลงทุนในโครงการของรัฐบาล ส่วนที่เหลือเป็นการให้กู้ต่อแก่ การรถไฟแห่งประเทศไทยและการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และวงเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องเงินคงคลัง  
  • การก่อหนี้ใหม่ของรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐ วงเงิน 233,020.28 ล้านบาท เป็นการกู้เพื่อการลงทุนในสาขาคมนาคม (รถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3) สาขาพลังงาน (ปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้า แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน) สาขาสาธารณูปโภค (ปรับปรุงขยาย กปภ. สาขาต่างๆ) สาขาที่อยู่อาศัย (พัฒนาที่อยู่อาศัย โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง) 

2.แผนการบริหารหนี้เดิม วงเงิน 1,735,962.93 ล้านบาท เป็นการปรับโครงสร้างหนี้ของรัฐบาล วงเงิน 1,589,973.34 ล้านบาท และรัฐวิสาหกิจ วงเงิน 145,989.59 ล้านบาท เพื่อบริหารหนี้สาธารณะให้อยู่ภายใต้การบริหารต้นทุนและความเสี่ยงที่เหมาะสม 

 

3.แผนการชำระหนี้ วงเงิน 360,179.68 ล้านบาท เป็นแผนการชำระต้นเงินกู้และดอกเบี้ยจากเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 และเงินรายได้ของรัฐวิสาหกิจ

 

สำหรับแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2566 สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นปีงบประมาณ 2566 คาดว่า จะอยู่ที่ 60.43% ซึ่งยังอยู่ใต้กรอบในการบริหารหนี้สาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังที่ 70%