4 ปัจจัย กดดันแบงก์ ขึ้นดอกเบี้ยต.ค.นี้

23 ก.ย. 2565 | 20:47 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ก.ย. 2565 | 03:47 น.

กูรูประเมิน แบงก์ลุ้นผลประชุมกนง. 28 ก.ย.นี้ พร้อมประมาณการจีดีพีใหม่ ก่อนปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากประจำ-เงินกู้ เหตุทุกค่ายห่วงลูกค้ากลุ่มเปราะบาง เอ็นพีแอล ระบุมี 4 ปัจจัยกดดันแบงก์ขึ้นดอกเบี้ย แต่ต้องสนองการส่งผ่านดอกเบี้ยสู่ระบบ คาดปรับขึ้นต.ค.

 

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศ ไทย (ธปท.) ครั้งที่ 5 ของปีที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 28 กันยายนนี้ถูกมองว่า จะยังเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% แม้จะยังห่างไกลจากดอกเบี้ยของสหรัฐที่ล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับเพิ่มอีก 0.75% ส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐ ขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 3.00-3.25% สูงสุดในรอบ 14 ปี ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายไทยอยู่ที่ 0.75%    

 

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่และ Chief Economist ธนาคาร กรุงไทย(KTB) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจัยที่ไม่คาดฝัน หลังจากเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.75% คือ คาดการณ์ดอกเบี้ยเฟดใหม่หรือ Dot Plot ใหม่นั้น เฟดมีเป้าหมายการปรับดอกเบี้ยที่สูงกว่าคราวที่แล้ว

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่และ Chief Economist ธนาคาร กรุงไทย

“ทิศทางดอกเบี้ยเฟดที่สูงขึ้นย่อมส่งผลต่อดอกเบี้ยไทยในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะฟากธนาคารตอนนี้ ซึ่งทุกธนาคารต่างรอผลการประชุมของกนง.ในวันที่ 28 กันยายน 2565 และตลาดให้ความสนใจกับตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ที่จะออกมาด้วย” ดร.พชรพจน์กล่าว

 

ส่วนการปรับขึ้นดอกเบี้ยของฟากธนาคารนั้นขึ้นอยู่กับการตัดสินใจกนง.ในวันที่ 28 กันยายนนี้ ซึ่งคาดว่า จะขยับเพิ่มขึ้อีก 0.25% จากคราวที่แล้วปรับขึ้นมา 0.25% โดยหลังจากนี้ทุกธนาคารจับตาการไหลออกของเงินฝากจากธนาคารไปสู่ตลาดพันธบัตร(บอนด์) หรือตลาดอื่นอย่างไร ซึ่งในมุมของธปท.เชื่อว่า ธปท.อยากเห็นกระบวนการส่งผ่านดอกเบี้ยสู่ระบบ แต่ต้องยอมรับว่า ธนาคารเองยังมีภาระต้องบริหารจัดการ โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่มเปราะบางหรือลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยกล่าวว่า หลังจากกนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแล้ว ธนาคารจะดูปัจจัยภาพรวมเศรษฐกิจและสภาพคล่องก่อนจะทยอยขึ้นดอกเบี้ยตาม กนง. โดยยังมีประเด็นระยะเวลาของการปรับขึ้นด้วย ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจและสภาพคล่องในระยะข้างหน้าด้วย แต่ปัจจุบันสภาพคล่องส่วนเกินยังอยู่ในปริมาณมาก หากมองในแง่ความจำเป็นทุกธนาคารต้องช่วยดูแลลูกหนี้ควบคู่ไปกับการพิจารณาปรับดอกเบี้ย ซึ่งขึ้นกับโครงสร้างเงินฝากและความพร้อมของกลุ่มลูกค้าด้วย

4 ปัจจัย กดดันแบงก์ ขึ้นดอกเบี้ยต.ค.นี้

 

อย่างไรก็ตาม ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2565 ยอดคงค้างสินทรัพย์สภาพคล่องอยู่ที่ 5.18 ล้านล้านบาทและส่วนที่ต้องกันสำรองตามเกณฑ์อีก 2.76 ล้านล้านบาท โดยจะเหลือสภาพคล่องส่วนเกินอยู่ในระบบประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท อัตราส่วนสภาพคล่องเพื่อรองรับสถานการณ์ด้านสภาพคล่องที่มีความรุนแรง (LCR) 187.9% รวมธนาคารในระบบ 29 แห่ง (ธพ.จดทะเบียนและสาขาธนาคารต่างประเทศ)

 

ขณะที่แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์กล่าวว่า แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของฝากธนาคารพาณิชย์นั้นคาดว่า จะเห็นในเดือนตุลาคมนี้ เพราะความผันผวนจากตลาดโลกที่เกิดขึ้นจากฝั่งสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก ส่งผลให้ต้นทุนปรับเพิ่มขึ้นโดยภาพรวมและในส่วนของภาคธนาคารเอง ก็ยังมีต้นทุนที่แพงขึ้น เห็นได้จากส่วนต่างของดอกเบี้ยหรือมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งกลุ่มเปราะบางและลูกหนี้เอสเอ็มอี

4 ปัจจัย กดดันแบงก์ ขึ้นดอกเบี้ยต.ค.นี้

รวมถึงการปรับเพดานเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIFD) เป็นอัตราเดิมที่ 0.46% จากที่ผ่าน มาธปท.ผ่อนปรนลดเหลือ 0.23% ซึ่งจะมีผลในปี 2566 นอกจากนั้นสัญญาณการปรับขึ้นของต้นทุนจากการระดมทุนผ่านการออกตราสารทางการเงินที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่1(Additional Tier1:AT1) ซึ่งเป็นตราสารหนี้ด้อยสิทธิ์ที่มีลักษณะคล้ายการออกหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ (Perpetual Bond) โดยกำหนดการชำระคืนอย่างน้อย 5 ปี

 

“ช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น บางแบงก์ต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงขึ้นเช่น ณ วันที่ 21 กันยายน 2565 อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอยู่ในช่วง 7-9% คือบางแบงก์จะอยู่ที่ 7.6% ต่อปีหรือ 8%ต่อปี และบางแบงก์เกือบ 9%ต่อปี ตรงนี้จึงทำให้นักลงทุนกังวลว่า ในปีที่ 6-7 หลังพ้น Non Call Period ช่วง 5 ปีแรกแล้ว แบงก์จะไม่ยอมไถ่ถอน ซึ่งแบงก์ไทยเพิ่งจะออก AT1 เมื่อปี 2562-2563 ยังไม่ครบกำหนด ส่วนตัวเชื่อว่า ทุกแบงก์มีโอกาสพร้อมจะไถ่ถอนอยู่แล้ว” แหล่งข่าวกล่าว

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,821 วันที่ 25 - 28 กันยายน พ.ศ. 2565