นักลงทุนได้อะไรจากการลงทุน ESG ศึกษาตัวอย่างกรณี CPF และ CPN

10 ก.ย. 2565 | 03:09 น.

ผลตอบแทนที่นักลงทุนจะได้รับจากการลงทุนอย่างยั่งยืน หรือ ESG นั้นเป็นอย่างไร มาดูตัวอย่างผ่านกรณีศึกษาของบริษัท CPF และ CPN กัน


การลงทุนในบริษัทที่มีการบริหารความเสี่ยงที่เกิดจากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม (E - Environmental) สังคม (S - Social) และบรรษัทภิบาลภายในองค์กร (G - Governance) อย่างมีประสิทธิภาพนั้น จะช่วยลดความเสี่ยงที่ปัจจัยด้าน ESG อาจส่งผลกระทบด้านลบต่อผลการดำเนินงานด้านการเงินของบริษัท โดยความเสี่ยงที่ลดลงจะทำให้ราคาหุ้นของบริษัทมีความผันผวนน้อยลง และบริษัทมีความทนทานต่อวิกฤติต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

 

ผศ. ดร.รุ่งเกียรติ รัตนบานชื่น คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของประโยชน์ด้านผลตอบแทนจากการลงทุนที่นักลงทุนจะได้รับจากการลงทุนในบริษัทที่มุ่งเน้นด้านความยั่งยืน หรือ ESG โดยขอยกตัวอย่าง 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือที่รู้จักกันดีในชื่อย่อว่า CPF เพื่อเป็นตัวแทนของบริษัทในกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร และบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ที่รู้จักกันดีในชื่อย่อว่า CPN เพื่อเป็นตัวแทนของบริษัทในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง

 

เมื่อวิเคราะห์ว่าปัจจัย ESG ในมิติใดจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อผลการดำเนินงานของบริษัทในกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร จะพบว่ามี 5 ปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกับ

 

1) ความปลอดภัยและคุณภาพอาหาร
2) ปัจจัยด้านสิทธิมนุษยชนและการใช้แรงงานในกระบวนการผลิต
3) สุขภาวะของพนักงาน
4) การบริหารจัดการน้ำ
5) การลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศของโลก เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความยั่งยืนของธุรกิจค่อนข้างมาก

 

สาเหตุที่ปัจจัยเหล่านี้สามารถมีผลกระทบต่อผลการดำเนินงานด้านการเงินของบริษัท เพราะความปลอดภัยของอาหารจะมีผลกระทบโดยตรงต่อรายได้และความสามารถในการแข่งขันของบริษัท ส่วนประเด็นด้านการใช้แรงงานที่ผิดหลักสิทธิมนุษยชนสามารถทำให้เกิดการคว่ำบาตรทางการค้าได้ ในขณะที่การบริหารจัดการสุขภาวะที่ดีต่อพนักงาน จะทำให้พนักงานมีประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีขึ้น และลดความเสียหายที่เกิดจากกระบวนการผลิตได้อย่างมีนัยสำคัญ

 

ขณะที่ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวเนื่องกับการบริหารจัดการน้ำ และการลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เป็นปัจจัยสำคัญเพราะธุรกิจการเกษตรและผลิตอาหารมักจะต้องใช้ปริมาณน้ำในกระบวนการผลิตค่อนข้างมาก และบริษัทมักจะมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่สูงสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งหากบริษัทบริหารจัดการประเด็นดังกล่าวได้ไม่ดีพอ อาจทำให้ต้องเผชิญกับค่าปรับจากทางการ หรือการต่อต้านจากชุมชนที่อาศัยอยู่โดยรอบโรงงานได้

 

ด้วยเหตุนี้ CPF จึงให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำ โดยมีการประเมินอย่างต่อเนื่องว่าพื้นที่ใดมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะขาดแคลนน้ำ เพื่อให้บริษัทวางแผนจัดเตรียมแหล่งน้ำไว้ล่วงหน้า ในส่วนของการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการขับถ่ายของสัตว์นั้น CPF ก็ได้มีการใช้อาหารสัตว์ที่มีนวัตกรรมในการเพิ่มประสิทธิภาพการย่อยและลดปริมาณไนโตรเจนส่วนเกินในการขับถ่ายของสุกรและไก่ไข่

 

นอกจากนี้ CPF ได้มีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนในการมีรายได้ประมาณร้อยละ 40 ให้มาจากผลิตภัณฑ์อาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และจะมีการปรับปรุงผลิตภัณฑ์อาหารอย่างต่อเนื่องเพื่อลดปริมาณโซเดียม และไขมันอิ่มตัว เพื่อลดผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพของผู้บริโภค

 

 

และเนื่องจาก CPF ใช้แนวทางของการมีคู่ค้าเกษตรกรในการมีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตอาหารของบริษัทค่อนข้างมาก บริษัทจึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้ความรู้เรื่องหลักปฏิบัติต่อแรงงานตามหลักสิทธิมนุษยชน และนำเสนอเทคโนโลยีหรืออุปกรณ์ที่จำเป็นในการทำปศุสัตว์เพื่อให้คู่ค้าเกษตรกรต่าง ๆ มีกระบวนการผลิตที่มีความปลอดภัย และถูกหลักอาชีวอนามัยต่อแรงงานทุกคน โดย CPF จะมีการตรวจสอบคู่ค้าอย่างละเอียด (Due Diligence) ในทุก ๆ 3 ปี

 

ในส่วนของบริษัท CPN ที่อยู่ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างนั้น มีความจำเป็นที่จะต้องบริหารจัดการปัจจัยผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในระหว่างการก่อสร้าง และในระหว่างการใช้งานอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว นอกจากนี้บริษัทในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างยังต้องให้ความสำคัญต่อการบริหารความเสี่ยงที่เกิดจากภัยธรรมชาติด้วย เพราะผลการดำเนินงานของบริษัทขึ้นอยู่กับการสร้างรายได้ของอสังหาริมทรัพย์ที่พัฒนาขึ้น ซึ่งอสังหาริมทรัพย์ถือเป็นทรัพย์สินที่ไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ ทำให้บริษัทจะต้องประเมินทำเลที่ตั้งอยู่เสมอว่ามีความปลอดภัยต่อภัยพิบัติต่าง ๆ หรือไม่

 

ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญประเด็นแรกของบริษัท CPN จะเกี่ยวกับการบริหารจัดการของเสียที่เกิดจากใช้งานอาคาร ซึ่งหากบริษัทมีการบริหารจัดการที่ดีจะช่วยลดค่าใช้จ่ายการดำเนินงานของบริษัทได้ในระยะยาว ในกรณีของบริษัท CPN ที่ทำธุรกิจหลักเกี่ยวกับการบริหารอสังหาริมทรัพย์ประเภทห้างสรรพสินค้านั้น ในแต่ละวันจะมีปริมาณขยะจากร้านค้าต่าง ๆ ภายในห้างสรรพสินค้าค่อนข้างมาก หากไม่มีกระบวนการบริหารจัดการของเสียที่ดี บริษัทจะมีค่าใช้จ่ายให้กับหน่วยงานภายนอกในการจัดการขยะดังกล่าวค่อนข้างมากเช่นกัน

 

 ด้วยเหตุนี้บริษัท CPN จึงได้มีการจัดตั้งโครงการ “Journey to Zero” ขึ้น โดยมีเป้าหมายในการลดปริมาณขยะที่ส่งไปหลุมฝังกลบให้มีปริมาณเท่ากับศูนย์ ซึ่งการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวจะต้องเริ่มจากการส่งเสริมร้านค้าต่าง ๆ ภายในห้างสรรพสินค้าให้แยกขยะ และมีส่วนร่วมในการรีไซเคิลขยะประเภทต่าง ๆ โดย CPN ยังมีการให้แต้มแลกของรางวัลแก่พนักงานเพื่อจูงใจให้พนักงานช่วยกันแยกขยะร่วมด้วย

 

ส่วนผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมประเด็นที่สองที่สำคัญคือการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่สิ่งแวดล้อมโดยรอบ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการใช้พลังงานเพื่อการดำเนินงานของอาคาร โดยข้อมูลจาก Architecture2030.org ได้มีการคาดการณ์ว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการใช้ประโยชน์และดำเนินงานอาคารต่าง ๆ ทั่วโลกคิดเป็นสัดส่วนมากถึงร้อยละ 27 ของปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั้งหมดในแต่ละปี

 

ด้วยเหตุนี้บริษัท CPN จึงได้มีการวางเป้าหมายเพิ่มเติมในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของอาคาร และลดประมาณการใช้สาร CFC (Chlorofluorocarbons) และ GWP (Global Warming Potential) ในระบบปรับอากาศของอาคาร ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะมีส่วนช่วยให้บริษัทลดผลกระทบและค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจากกฎเกณฑ์ด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนของรัฐบาลได้ บริษัท CPN ได้มีการวางเป้าหมายที่จะทำให้อสังหาริมทรัพย์ประมาณร้อยละ 20 ของบริษัทได้รับการยอมรับเป็น Green Building ภายในปี 2030

 

นอกจากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจัยด้านสังคมที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ยังเป็นอีกปัจจัยที่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความสำเร็จของการประกอบธุรกิจของ CPN จึงทำให้บริษัทให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนอาคารและห้างสรรพสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า เช่น การเพิ่มพื้นที่สนามเด็กเล่น การเพิ่มห้องน้ำเด็ก หรือการติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ EV เป็นต้น การปรับปรุงลักษณะการใช้งานอาคารอย่างต่อเนื่องจะทำให้อสังหาริมทรัพย์ของบริษัทดึงดูดผู้ใช้งานได้ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป และเป็นการรักษาความสามารถในการสร้างรายได้ของบริษัทอย่างยังยืนในระยะยาว

 

จากตัวอย่างข้างต้น จะสังเกตเห็นว่าการบริหารจัดการปัจจัย ESG นั้น ไม่ได้มีประโยชน์แค่เพียงปรับปรุงกระบวนการของธุรกิจให้เป็นมิตรต่อส่วนรวมภายนอกเท่านั้น แต่ทุกปัจจัยที่บริษัทมุ่งเป้าปรับปรุงจะเป็นปัจจัยที่ช่วยลดความเสี่ยงให้กับผลการดำเนินงานด้านการเงินของบริษัท ดังนั้นนักลงทุนจึงควรให้ความใส่ใจต่อการจัดการปัจจัยด้าน ESG ของบริษัทต่าง ๆ ซึ่งสุดท้ายแล้วจะช่วยให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่าจากการลงทุนในบริษัทดังกล่าว

 

หมายเหตุ : ตัวอย่างบริษัทจดทะเบียนที่นำเสนอในบทความนี้ใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

 

ที่มา :  SET, setinvestnow.com