ธ.ก.ส.ห่วงชาวนาหนี้เสียเพิ่ม เหตุต้นทุนการผลิตพุ่ง

08 ก.ย. 2565 | 17:32 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.ย. 2565 | 00:32 น.

ธ.ก.ส.แจง 1-2 ปีจากนี้ เกษตรกรชำระหนี้น้อยลง เหตุต้องเผชิญกับต้นทุนการผลิตสูง หลังออกจากมาตรการพักหนี้ ห่วงเกษตรกร ผู้ปลูกข้าวมากสุด เหตุเป็นพอร์ตใหญ่ถึง 60% เร่งหามาตรการเสริมศักยภาพ สร้างรายได้เพิ่ม

นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ช่วง 1-2 ปีจากนี้ เกษตรกรจะมีการชำระหนี้น้อยกว่าปกติ ส่วนหนึ่งเพราะเพิ่งออกจากมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ดังนั้นธ.ก.ส.จะต้องเข้าไปดูแลผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืนตามแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) การสร้างอาชีพเสริมให้กับเกษตรกร โดยต้องเข้าไปดูศักยภาพของแต่ละชุมชน ให้มีรายได้เพิ่มขึ้น เพื่อให้เกษตรกรมีศักยภาพในการชำระหนี้มากขึ้น

นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

“เกษตรกรกลุ่มที่มีศักยภาพ เราจะมีเครื่องมือเข้าไปช่วยในการชำระหนี้ได้ ด้วยการลดดอกเบี้ย ถ้าศักยภาพด้อยลงมาก็อาจจะยืดหนี้ออกไป หรือในรายที่ค้างชำระแล้วมาชำระหนี้และมีวินัยดี เราจะยกดอกเบี้ยให้ 30-50%” นายธนารัตน์กล่าว

 

ทั้งนี้ลูกค้าธ.ก.ส.จะแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ

  • S1 คือ เกษตรกรที่ถือบัตรสวัสดิการ
  • S2 คือ ที่ไม่ได้ถือบัตรและไม่เข้าโครงการพักชำระหนี้
  • S3 คือ ผู้ประกอบการนิติบุคคลและสหกรณ์การเกษตร

 

กลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ซึ่งเป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ของธ.ก.ส.ประมาณ 60% พอร์ต ซึ่งปัจจุบันหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง แต่ต้องมาเผชิญกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นราคาปุ๋ย ราคายา ราคาน้ำมัน และยังมาเจอกับเงินเฟ้อที่สูง รายได้ที่เคยมีก็ลดลง ค่าใช้จ่ายก็สูงขึ้น

 

 

 

“กลุ่มที่่ห่วงมากสุดคือ เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ขณะที่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ความเป็นห่วงน้อยลง เพราะไม่ได้จ่ายชดเชยราคา ส่วนปาล์มและราคายางห่วงน้อยที่สุด เพราะราคาปาล์มและราคายางสูงกว่าราคาอ้างอิง”นายธนารัตน์กล่าว 

 

อย่างไรก็ตามสถานการณ์ข้าวไม่สามารถเทียบเคียงฤดูกาลไม่ได้ เพราะฤดูกาลที่แล้ว ภาครัฐได้ใช้งบประมาณในการช่วยเหลือพืชข้าวถึง 1.3 แสนล้านบาท ทั้งจากการจ่ายชดเชยส่วนต่างราคา ช่วยเหลือต้นทุนการผลิต ช่วยเหลือค่าเกี่ยวเกี่ยว ช่วยเหลือค่าเก็บรักษาและในฤดูกาลผลิตปี 65/66 แนวโน้มก็ยังเป็นข้าวที่่รัฐจะเข้ามาดูเป็นหลัก

ธ.ก.ส.ห่วงชาวนาหนี้เสียเพิ่ม เหตุต้นทุนการผลิตพุ่ง

นายธนารัตน์กล่าวถึงระดับหนี้เสียของธนาคารว่า ได้ปรับตัวสูงขึ้นล่าสุดอยู่ที่ระดับ 10% ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งกระทบต่อรายได้ลดลงบวกกับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกทำให้ต้นทุนเกษตรกรสูงขึ้น  แต่หากดูในแง่หนี้เสียสินเชื่อภาคการเกษตรของสถาบันการเงินอื่นตัวเลขก็ใกล้เคียงกัน

 

นอกจากนี้ หากพิจารณาแนวโน้มหนี้เสียที่เห็นอยู่ในปัจจุบันจะเห็นว่า หนี้เสียมีแนวโน้มลดลงตามลำดับ สะท้อนจากการแบ่งกลุ่มประเมินศักยภาพในการชำระหนี้ตามกลุ่มเขียว เหลือ แดง ยังอยู่ในสัดส่วนปกติ ถือว่า ยังสามารถบริหารจัดการได้ โดยคาดว่า ในปีบัญชี 2565 หนี้เสียจะปรับลงมาอยู่ที่ระดับ 7-8.99% ซึ่งธนาคารได้ตั้งสำรองรองรับไว้พอสมควร ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 4 แสนล้านบาทและมีเป้าหมายตั้งสำรองเชิงคุณภาพและสำรองทั่วไปไว้ทุกปี 

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,815 วันที่ 4 - 7 กันยายน พ.ศ. 2565