ประเทศไหน? ที่จะเจอวิกฤตตามรอย "ศรีลังกา"

31 ส.ค. 2565 | 14:29 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ส.ค. 2565 | 21:43 น.
4.8 k

“กอบศักดิ์ ภูตระกูล” ไล่เรียงสถานการณ์ประเทศในกลุ่ม Emerging Market เริ่มแย่ลงเรื่อยๆ เริ่มมีคนเข้าคิว ที่จะเดินตามรอยศรีลังกาพร้อมลุกลามต่อไป กลายเป็นวิกฤตที่กระทบ Emerging markets ทั้งหมด

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ และประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) โพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊กส่วนตัว ในหัวข้อ “สะสมพลัง .... รอปะทุ เป็นวิกฤต”

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ และประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) 

บทความนี้อาจจะเขียนเร็วไป 1 ปี  แต่จากที่ดูข้อมูลแล้ว สถานการณ์ในกลุ่ม Emerging Market เริ่มแย่ลงเรื่อยๆ เริ่มมีคนเข้าคิว ที่จะเดินตามรอยศรีลังกาไปที่ละคน พร้อมลุกลามต่อไป กลายเป็นวิกฤตที่กระทบ Emerging markets ทั้งหมด โดยคนในคิวล่าสุด ได้แก่

  • ปากีสถาน มีเงินสำรองเหลือประมาณ 9 พันล้านดอลลาร์ สรอ.เท่ากับประมาณ 1.4 เดือนของสินค้านำเข้าอยู่ในระดับเดียวกับศรีลังกา และต้องเข้าไปขอความช่วยเหลือจากทาง IMF ซึ่งล่าสุดได้มา 1.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. แต่ CDS ที่เป็นราคาของการประกันความเสี่ยงไม่ผิดนัดชำระหนี้ใน 6 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 5,000  เทียบกับประเทศปกติๆ ที่อยู่ที่ต่ำกว่า 100  สะท้อนถึงความกังวลใจของนักลงทุน

 

ซ้ำร้าย กำลังมีน้ำท่วมใหญ่ที่ทำให้ 1/3 ของพื้นที่ของประเทศจมน้ำ สร้างความเสียหายนับ 10,000 ล้านดอลลาร์สรอ.ซึ่งเมื่อหมดน้ำท่วม ความทุกข์ยากต่างๆ ก็จะตามมา ด้วยเงินที่มีจำกัด วิกฤตที่อยู่ข้างหน้า การช่วยเหลือประชาชนก็จะเป็นไปอย่างจำกัดเช่นกัน เป็นชนวนนำไปสู่การประท้วง ลุกลามกลายเป็นปัญหาการเมืองของประเทศต่อไปได้

  • เมียนมาร์ ต้องปรับลดค่าเงินอีกรอบ จาก 1,850 จ๊าต/ดอลลาร์มาเป็นประมาณ 2,100 จ๊าต/ดอลลาร์ แต่ในตลาดมืด ล่าสุดซื้อขายกันที่ 3,500 จ๊าต/ดอลลาร์ อ่อนลงไปมากเมื่อเทียบกับ 1,350 จ๊าต/ดอลลาร์เมื่อต้นปี 2021

 

  • สปป ลาว ซึ่งกำลังเผชิญกับปัญหาค่าเงินในช่วงที่ผ่านมา ค่าเงินกีบก็ยังอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ไม่ดีขึ้นจากต่ำกว่า 15,000 กีบ/ดอลลาร์เมื่อ 2 เดือนที่แล้ว ล่าสุดมาอยู่ที่ 15,386 กีบ/ดอลลาร์ เทียบกับ 9,300 กีบ/ดอลลาร์ เมื่อต้นปี 2021

ประเทศไหน? ที่จะเจอวิกฤตตามรอย \"ศรีลังกา\"

ในภูมิภาคอื่นของโลก ก็กำลังมีปัญหาเช่นเดียวกัน โดย

  •  อียิปต์ กำลังถูกนักลงทุนจับตามอง มีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้สูงสุดในรอบ 5 ปี ค่าเงินอียิปต์ที่ต้องลดค่าจาก 15.7 ปอนด์/ดอลลาร์ มาที่ 18.5 ปอนด์/ดอลลาร์ เมื่อมีนาคมนี้ ล่าสุดยังอ่อนต่อเนื่อง มาอยู่ที่ 19.2 ปอนด์/ดอลลาร์

 

• เอลซาวาดอร์ (ประเทศแรกของโลกที่รับเงินคริปโตมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน) ก็กำลังมีปัญหาหนัก ล่าสุด ถ้ารัฐจะกู้ยืม ออกพันธบัตรใหม่ ต้องจ่ายดอกเบี้ย +24% จากฐานดอกเบี้ยของพันธบัตรสหรัฐ CDS ของประเทศอยู่ที่หลัก 2,700-3,400 ซ้ำร้ายเงินที่รัฐบาลเอาไปลงทุนไว้ในคริปโต ก็เสียหายหนัก เช่นกัน

 

  • อาร์เจนติน่า เงินเฟ้อล่าสุดอยู่ที่ 70%  ค่าเงินอ่อนยวบมาอยู่ที่ 139 เปโซ/ดอลลาร์ จาก 83 เปโซ/ดอลลาร์ เมื่อต้นปี 2021 โดยในอดีต ค่าเงินอาร์เจนติน่าเคยอยู่ที่ 1 เปโซ/ดอลลาร์ เมื่อปี 2000

 

  • ชิลี ซึ่งเป็นประเทศที่ดูแลเศรษฐกิจของตนเองดีที่สุดในลาตินอเมริกา  ล่าสุด ก็กำลังประสบปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดถึง 8.5% ของ GDP ค่าเงินผันผวนจาก 800 เปโซ/ดอลลาร์ อ่อนไปที่ 1,050 เปโซ/ดอลลาร์ ก่อนที่ทางการจะต้องใช้ 10% ของเงินสำรอง หรือ 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์เข้าดูแล แม้อาจจะไม่เสี่ยงเท่ากับประเทศอื่นๆ  แต่การที่ประเทศชั้นนำระดับชิลี มาอยู่ในเรดาห์ของนักลงทุน สะท้อนถึงความรุนแรงของปัญหาที่กำลังก่อตัว

 

ทั้งหมดนี้ ขอบอกว่า เลือกสรรมาให้ดูเพียงบางส่วนเท่านั้น แต่จากสภาพที่เห็น คงต้องบอกว่า ไฟกำลังค่อยๆ ลามทุ่ง อย่างช้าๆจากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่ง จากที่เคยคิดว่า ศรีลังกาเป็นเพียงลูกโดด เป็นกรณีเฉพาะตอนนี้ ดูเหมือนจะยังมีอีกหลายประเทศ ที่กำลังค่อยๆ อ่อนแรง ค่อยๆ เซ และปัญหากำลังสะสมพลัง ในจุดต่างๆ รอเวลา ที่จะปะทุขึ้น กระจายเป็นวงกว้าง

 

ที่น่ากังวลใจที่สุดในเรื่องนี้ ก็คือ ทั้งหมดที่พูดมา เกิดขึ้นในช่วงที่เฟด “เพิ่งจะเริ่มขึ้นดอกเบี้ย”  ปรับขึ้นมาแค่ 4 ครั้ง จาก 0-0.25% มาที่ 2.25-2.5% เท่านั้น ยังอีกพอสมควรกว่าจะถึงจุดสูงสุดที่ดอกเบี้ยจะขึ้นไป และยังต้องทำ QT ดึงสภาพคล่องกลับไปพร้อมๆ กันอีก

 

คิดไม่ออกว่า 1 ปีให้หลัง เมื่อเฟดจ่ายยาครบ ขึ้นดอกเบี้ยไปเต็มที่ เมื่อความกลัวเริ่มปกคลุมนักลงทุนเมื่อประเทศ Emerging Market บางส่วนมีเงินสำรองถดถอยไปมาก จากเงินที่ไหลออกจะเกิดอะไรขึ้น ในช่วงเวลาดังกล่าว

 

ขอเตือนว่า Emerging Market Crisis รอบนี้จะต่างจากรอบอื่นๆ ในอดีตที่เราเคยเจอมา Eastern European Crisis ในปี 2008  Asian Financial Crisis ในปี 1997 Latin American Debt Crisis ในปี 1980  ซึ่งแต่ละครั้ง เกิดเป็นจุดๆ เป็นพื้นที่ ดูจากการคุกรุ่นของปัญหา จากควันไฟที่ก่อตัว ในรอบนี้ เมื่อปัญหาสุกงอมเต็มที่ วิกฤตจะครอบคลุมทุกพื้นที่ ไม่ลุกลามเป็นทวีปๆ เช่นในอดีต

 

หมายความว่า ปัญหาจะวนมากระทบทุกคนใน Emerging Market รวมถึง ไทย ทางออกที่เรามี ก็คือ ต้องใช้เวลาที่เหลือเตรียมการให้พร้อม สร้างภูมิคุ้มกันให้ดี ประเภท ถ้าฝนจะมา ก็เตรียมร่ม เตรียมเสื้อกันฝน เตรียมเก็บข้าวของให้พร้อมคนที่เตรียมการดี ก็จะเสียหายน้อยพร้อมสามารถที่จะหยิบฉวยโอกาสที่เปิดขึ้นได้ เวลามีจำกัด อย่าให้เวลาที่เหลือผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์