EIC ชี้เศรษฐกิจโลก ส่งสัญญาณชะลอตัวชัดเจนขึ้น เหตุเงินเฟ้อ-การเงินตึงตัว

19 ส.ค. 2565 | 20:18 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ส.ค. 2565 | 03:24 น.

EIC ชี้เศรษฐกิจโลกมีสัญญาณชะลอตัวชัดเจนขึ้น จากเงินเฟ้อ-ภาวะการเงินตึงตัว คาด Fed ขึ้นดอกเบี้ยในอัตราชะลอลงหลังเสี่ยงภาวะถดถอยที่เพิ่มสูงขึ้น แนวโน้มเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวดี จากการบริโภคในประเทศ-ภาคบริการหลังเปิดประเทศ คาดดอกเบี้ยนโยบายแตะ 1.25% ณ สิ้นปี

19 สิงหาคม 65  ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เปิดเผยภาพรวมของเศรษฐกิจโลก ว่า เผชิญความเสี่ยงมากขึ้น โดยเศรษฐกิจโลกมีสัญญาณชะลอตัวลงและหลายตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจสะท้อนความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค (Technical recession) ในไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมา

 

แม้การจ้างงานยังอยู่ในระดับดี ขณะที่ความเสี่ยงด้านอุปทานพลังงานในยุโรปจากการลดปริมาณการส่งก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียและภาวะเงินเฟ้ออาจส่งผลให้เศรษฐกิจยุโรปหดตัวในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ท่ามกลางความเชื่อมั่นผู้บริโภคทั่วโลกที่ปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญตามเงินเฟ้อที่เร่งตัว ซึ่งลดทอนอำนาจซื้อ

และการตึงตัวของนโยบายการเงิน ด้านปัญหาการชะงักงันของอุปทานโลกแม้เริ่มคลี่คลาย แต่ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์โลก โดยเฉพาะท่าทีที่แข็งกร้าวระหว่างจีนและสหรัฐฯ ต่อกรณีไต้หวัน ยังตอกย้ำแนวโน้มของการแบ่งแยกอุปทานโลก (Global supply chain decoupling) ที่กำลังดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องในโลกหลังโควิด

ความเสี่ยงต่อภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ (Recession) ที่เพิ่มสูงขึ้น กอปรกับแนวโน้มเงินเฟ้อที่อาจผ่านพ้นจุดสูงสุดในไตรมาสที่ 3 และจะเริ่มชะลอตัวตามราคาพลังงานและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอลงทั้งในภาคการผลิตตามการชะลอตัวของอุปสงค์โลก

 

และในภาคบริการตามแรงส่งของอุปสงค์คงค้างที่ทยอยหมดลง และปัจจัยทางฤดูกาล จะส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอัตราที่ช้าลงในระยะต่อไป ส่งผลให้ความผันผวนในตลาดเงินโลกลดลงและผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เสี่ยงเริ่มฟื้นตัว

 

ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ โดยเศรษฐกิจไทยมีทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่องหลังเปิดประเทศ แม้เงินเฟ้อยังเป็นปัจจัยกดดันและจะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของครัวเรือนอย่างกว้างขวางมากขึ้น เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมาขยายตัวได้ 2.5%

 

จากการเร่งตัวของการบริโภคในประเทศ การฟื้นตัวของภาคบริการโดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวและการค้าส่งและค้าปลีก และรายได้ในภาคเกษตรที่ขยายตัวในเกณฑ์ดี ในระยะต่อไป การเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจะส่งผลให้ภาคท่องเที่ยวและภาคบริการกลายเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่สำคัญมากขึ้น 

 

โดย EIC ประมาณการนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยในปีนี้แตะ 10 ล้านคน (เดิม 7.4 ล้านคน) และประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีหน้าอาจเพิ่มขึ้นมาอยู่ใกล้เคียงระดับ 28 ล้านคน ตามแนวโน้มนักท่องเที่ยวจีนที่คาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นมากในปีหน้า

 

หากรัฐบาลจีนเริ่มผ่อนคลายมาตรการด้านพรมแดนด้านการบริโภคมีทิศทางฟื้นตัวดีขึ้นตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาใกล้เคียงปกติ แต่ยังมีความเสี่ยงในระยะข้างหน้าจากแนวโน้มเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง (7.6% ในเดือน ก.ค.) 

 

โดยเริ่มเห็นการเร่งตัวของราคาสินค้าทั่วไป (สินค้าหมวดพื้นฐาน) จากการส่งผ่านต้นทุนของภาคธุรกิจไปยังผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ค่าจ้างขั้นต่ำมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนแรงงานในภาคธุรกิจและการปรับขึ้นของราคาสินค้า 

 

ทั้งนี้จากผลสำรวจของ EIC (EIC Consumer Survey 2565) พบว่าครัวเรือนส่วนใหญ่มีปัญหารายได้ไม่พอรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อ และกว่าครึ่งหนึ่งมีปัญหาด้านการชำระหนี้ ซึ่งอาจได้รับผลกระทบเพิ่มเติมในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น

 

EIC ประเมินว่าดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปี จะอยู่ที่ 1.25% โดยคาดว่า กนง. จะทยอยขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปในการประชุมที่เหลืออีก 2 ครั้งของปีนี้ โดยดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปีจะปรับขึ้นมาอยู่ที่ 1.25% จากสถานการณ์เงินเฟ้อที่มีแนวโน้มใกล้ผ่านจุดสูงสุด เงินบาทที่กลับมาแข็งค่า และภาวะเศรษฐกิจในกลุ่มเปราะบางที่ยังฟื้นตัวช้า

 

โดย EIC ประเมินว่า กนง. เล็งเห็นความจำเป็นต้องเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อควบคุมเงินเฟ้อคาดการณ์ให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย และเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มฟื้นตัวชัดเจนขี้น 

 

อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นดอกเบี้ยจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยปรับขึ้นรอบละ 0.25% ในการประชุม 2 รอบที่เหลือของปี เพื่อประคองสถานะทางเศรษฐกิจในกลุ่มเปราะบางไม่ให้ได้รับผลกระทบซ้ำซ้อนทั้งจากเงินเฟ้อ และภาระหนี้ที่จะเพิ่มขึ้นรวมถึงโอกาสทางรายได้ที่อาจถูกกระทบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ย