EIC คาด ดอกเบี้ยนโยบายสิ้นปี 65 แตะระดับ 1.25%

10 ส.ค. 2565 | 19:19 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ส.ค. 2565 | 02:20 น.

EIC คาด กนง.จะขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปในการประชุมทั้ง 2 ครั้งที่เหลือของปี ส่งผลดอกเบี้ยนโยบายไทยสิ้นปี 2565 จะอยู่ที่ระดับ 1.25% หลังจากเงินเฟ้อผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว แถมเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น หลังเฟดส่งสัญญานปรับขึ้นดอกเบี่้ยช้าลง

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง แต่การปรับขึ้นจะยังเป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไปทำให้ณ สิ้นปี 2565 จะอยู่ที่ระดับ 1.25% โดย กนง. มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งละ 0.25% ในทุกการประชุมที่เหลือของปีนี้ในเดือนกันยายน และพฤศจิกายน 2022 หลังจากกนง. มีมติ 6 ต่อ 1 เสียงให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25%  ส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้นจาก 0.5% เป็น 0.75% ต่อปี

EIC คาด ดอกเบี้ยนโยบายสิ้นปี 65 แตะระดับ 1.25%

ทั้งนี้เนื่องจาก อัตราเงินเฟ้อไทยมีแนวโน้มผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว หลังจากตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปเดือนกรกฎาคม 2022 อยู่ที่ 7.61% ปรับลดลงจากเดือนก่อนที่ 7.66% และต่ำกว่าคาดการณ์ของตลาดที่ 8% แต่คาดว่า เงินเฟ้อจะไม่ปรับลดลงเร็วนักในระยะต่อไป เพราะแม้ราคาน้ำมันโลกจะเริ่มลดลงแล้ว แต่ราคาน้ำมันในประเทศอาจไม่ลดลงเร็วนัก โดยเฉพาะราคาขายปลีกดีเซล เนื่องจากกองทุนน้ำมันยังขาดดุลอยู่มาก ทำให้อาจต้องมีการจัดเก็บส่วนแบ่งเพื่อชดเชยการขาดทุน

อีกทั้ง ค่าไฟฟ้าในช่วง 4 เดือนหลังของปีจะปรับเพิ่มขึ้น ประกอบกับมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในประเทศ และแรงกดดันจากฝั่งอุปสงค์ (Demand-pull inflation) ที่จะมีมากขึ้นในช่วงปลายปี จึงทำให้แนวโน้มเงินเฟ้อไทยแม้จะชะลอลง แต่ยังอยู่ในระดับสูง

EIC คาด ดอกเบี้ยนโยบายสิ้นปี 65 แตะระดับ 1.25%

ขณะที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีกว่าคาดเล็กน้อย ล่าสุด EIC ได้ปรับเพิ่มประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาไทยปีนี้จาก 7.4 ล้านคนเป็น 10 ล้านคน ขณะที่การฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศก็มีแนวโน้มดีขึ้นตามการเปิดเมืองและการเปิดประเทศ รวมถึงภาคการเกษตรยังได้รับอานิสงส์จากทั้งปัจจัยทางด้านปริมาณจากน้ำฝนและน้ำในเขื่อนที่ดี และด้านราคาจากความต้องการในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูง (ยกเว้นข้าว)

 

อีกทั้ง ยังมีแรงส่งจากอุปสงค์คงค้าง (pent-up demand) ทำให้การบริโภคภาคเอกชนจะดีขึ้น นอกจากนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (purchasing managers index : PMI) เดือนล่าสุด ก็สะท้อนถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดย PMI manufacturing เดือนกรกฎาคมปรับสูงขึ้นมาสู่ระดับ 52.4 ซึ่งเป็นระดับที่สูงเกือบที่สุดนับตั้งแต่มีการสำรวจ

 

นอกจากนั้นธปท.จะใช้มาตรการทางการเงินอื่นๆ ในการเข้ามาดูแลครัวเรือนและธุรกิจกลุ่มเปราะบางที่อาจได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น โดยต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นจะทำให้ครัวเรือนกลุ่มรายได้น้อยมีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้สูงขึ้น ขณะที่กลุ่มรายได้ปานกลางอาจฟื้นตัวไม่ทันเงินเฟ้อ

 

ขณะเดียวกันยังมีธุรกิจหลายภาคส่วนที่การฟื้นตัวยังคงเปราะบาง เช่น การบิน รถยนต์ และอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ ทั้งนี้ EIC มองว่า ธปท. จะเลือกใช้มาตรการทางการเงินอื่น ๆ เพื่อเข้ามาดูแลกลุ่มเปราะบางเหล่านี้ เช่น การคงการลดอัตราการผ่อนชำระหนี้บัตรเครดิตขั้นต่ำที่ 5% การคงการขยายระยะเวลาชำระหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล ไปจนถึงปี 2023 และการปรับปรุงโปรแกรมการจ่ายหนี้ของคลินิกแก้หนี้เพื่อเพิ่มทางเลือกการผ่อนชำระมากขึ้น

 

อย่างไรก็ดี EIC ประเมินว่า แม้การปรับขึ้นดอกเบี้ยจะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง แต่อัตราการปรับขึ้นจะเป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไปครั้งละ 0.25% เนื่องจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ของไทยยังไม่แข็งแกร่งเท่าในประเทศอื่นที่เศรษฐกิจมีการฟื้นตัวอย่างชัดเจน ซึ่งส่งผลให้ประเทศเหล่านั้นสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้เร็วกว่าไทย สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังไม่เร่งสูงมากเหมือนประเทศอื่นในภูมิภาค และการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยังต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต

EIC คาด ดอกเบี้ยนโยบายสิ้นปี 65 แตะระดับ 1.25%

นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกก็มีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้น (Headwind) จากโอกาสในการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ที่มากขึ้นในเศรษฐกิจหลัก เช่น สหรัฐฯ ยุโรป และอังกฤษ ซึ่งจะกดดันอุปสงค์โลก และอาจมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทย และยังมีความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์โลก (Geopolitics) ที่สูงขึ้น ทำให้การดำเนินนโยบายการเงินจำเป็นต้องคำนึงถึงความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น และจำเป็นต้องดำเนินอย่างค่อยเป็นค่อยไป

 

อีกประเด็นที่จะทำให้ กนง. ไม่จำเป็นต้องเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็ว คือการที่เงินบาทกลับมาแข็งค่าในช่วงที่ผ่านมา โดยได้แข็งค่าสู่ระดับ 35.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 นักลงทุนคาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอัตราที่ช้าลง ส่งผลให้สินทรัพย์ทั่วโลกปรับสูงขึ้น ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง จึงทำให้เงินบาทรวมถึงค่าเงินสกุลอื่นปรับแข็งค่าขึ้น