“อาคม” ย้ำ ไทยต้องขาดดุลงบฯลดลง – GDP ต้องโตขึ้น

18 ส.ค. 2565 | 11:02 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ส.ค. 2565 | 18:09 น.

“อาคม” ย้ำ ไทยต้องขาดดุลงบประมาณลดลง พร้อมห่วงหนี้ครัวเรือนที่ยังเพิ่มขึ้น หลังรายได้โตไม่ทันรายจ่าย เหตุราคาพลังงานและอาหารพุ่งสูง ชี้ต้องเร่งเข็นเศรษฐกิจไทยให้โตเร็วขึ้น เพื่อกดหนี้ครัวเรือนให้ลดลง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร อยู่ระหว่างพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท ในวาระ 2 และวาระ 3 ซึ่งคาดว่าจะพิจารณาแล้วเสร็จในวันศุกร์ที่ 19 ส.ค.นี้

 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้ส่งสัญญาณถึงการทำงบประมาณขาดดุล ที่จะต้องปรับลดลงต่อเนื่อง ซึ่งในปีงบประมาณ 2566 กระทรวงการคลังได้ทำงบประมาณขาดดุลอยู่ที่ 6.95 แสนล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ 65 จำนวน 5 พันล้านบาท ภายใต้สมมุติฐานที่เศรษฐกิจไทยปี 66 จะขยายตัวที่ 4%-5%

ซึ่งขณะนี้เมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลาย นโยบายการเงิน การคลัง ก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เพราะในช่วงที่ผ่านมาในการแก้ปัญหาสถานการณ์โควิด รัฐบาลได้ใช้เงินนอกงบประมาณจำนวนมาก ดังนั้นในอนาคตจำเป็นต้องเร่งสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจ

 

อย่างไรก็ตามในส่วนของนโยบายการเงิน ในการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย มีการคาดการณ์ว่า กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยภายในปีนี้ อย่างน้อย 0.5% ซึ่งขณะนี้ได้ปรับขึ้นไปแล้ว 0.25% ซึ่งการดำเนินนโยบายด้านการเงิน ไม่ใช่แค่เพียงป้องกันเงินทุนไหลออกเพียงอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงถึงการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศด้วย

"ยอมรับว่า ขณะนี้ดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น และดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนหนี้ของรัฐบาล แต่ที่ผ่านมากระทรวงคลังได้มีการปรับโครงสร้างหนี้ การยืดหนี้ เพื่อให้มีต้นทุนดอกเบี้ยต่ำที่สุด ขณะเดียวกันในส่วนของแบงก์รัฐ ก็จะตรึงดอกเบี้ยเงินกู้ให้นานที่สุด อย่างน้อยภายในปีนี้ เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน" นายอาคม กล่าว

 

นายอาคม กล่าวอีกว่า จากตัวเลขของสภาพัฒน์ ที่ระบุว่า ไตรมาส 2/65 จีดีพีไทยโตได้ถึง 2.5% นั้น ถือเป็นตัวเลขที่ดี เนื่องจากฐานต่ำในปีก่อน และแม้จะคาดว่าตัวเลขจีดีพีทั้งปีจะโตได้ 3.1% แต่กระทรวงการคลัง และ ธปท. ก็เห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าจะโตได้ถึง 3.5%

 

ซึ่งขณะนี้มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน ทั้งการท่องเที่ยว ที่คาดว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาไทยในปีนี้ จะอยู่ที่ 6-8 ล้านคน และอาจถึง 10 ล้านคน ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้ประเมินไว้ เนื่องจากในช่วงปลายปีถือเป็นฤดูกาลท่องเที่ยว รวมทั้งการส่งออกก็ยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง

 

ขณะที่การบริโภคภายในประเทศ แม้จะขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ หนี้ภาคครัวเรือน เพราะขณะนี้รายได้โตไม่ทันรายจ่าย เนื่องจากราคาพลังงานและอาหารที่ปรับสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะทำให้หนี้ภาคครัวเรือนปรับลดลงได้คือ ต้องทำให้เศรษฐกิจเติบโตเร็วขึ้น