“อาคม” มั่นใจ EEC ช่วยหนุน GDP ไทย กลับมาโตได้ถึง 5% - 10%

17 ส.ค. 2565 | 17:32 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ส.ค. 2565 | 00:39 น.

“อาคม” มั่นใจ EEC จะเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวใหม่ หนุน GDP กลับมาโตได้ 5% - 10% เชื่อในอีก 4 ปีข้างหน้าเริ่มเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้ แนะพัฒนา EEC ให้เป็นเมืองที่มีชีวิต ไม่ใช่มีแค่ฐานผลิตหรือโรงงานอุตสาหกรรม

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในงาน “EEC : NEW Chapter NEW Economy” ที่จัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ว่า พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC จะเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยตัวใหม่ ที่จะช่วยผลักดันให้ตัวเลขจีดีพีของไทย ขยายตัวได้ 5% - 10% ในอนาคต

 

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมตรีว่าการกระทรวงการคลัง

โดยเม็ดเงินลงทุนในพื้นที่ EEC ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 1.8 ล้านล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของภาคเอกชน ในลักษณะ PPP เช่น การลงทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ท่าเรือมาบตาพุต และท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3

 

ซึ่งการลงทุนในรูปแบบ PPP จะทำให้การลงทุนก่อสร้างเกิดขึ้นได้เร็วขึ้น ไม่ต้องติดขั้นตอนในการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ดังนั้นในช่วงนี้ถือเป็นช่วงของการลงทุนเพื่อพัฒนาในพื้นที่ โดยมองว่าจะเริ่มเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้ในอีกประมาณ 4 ปีข้างหน้า

ดังนั้นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นใน EEC  คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่ต้องมีความทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  การเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมใหม่ๆ โดยเฉพาะ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมทั้ง การพัฒนาเกษตรกรรมในพื้นที่ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างครอบคลุมในทุกด้าน

 

“ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา การลงทุนในอีสเทิร์นซีบอร์ด จะเน้นในเรื่องของอุตสาหกรรมหนัก  เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ ทำให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ หรือ ดีทรอยต์แห่งเอเชีย  แต่การจะเปลี่ยนจากฟอสซิลมาเป็นอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยาก ซึ่งรัฐบาลก็ได้มีมาตรการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่รถยนต์ EV เช่น มาตรการภาษี เป็นต้น” นายอาคม กล่าว

 

โดยนายอาคม ยังมองว่า EEC ควรนำเรื่องของการท่องเที่ยวเข้ามามีส่วนร่วมด้วย และ EEC ต้องมีความชัดเจนในเรื่องของศูนย์กลาง และมีการพัฒนาพื้นที่โดยรอบอย่างเท่าเทียม มีการทำให้ EEC มีชีวิต ไม่ใช่มีแค่โครงสร้างพื้นฐาน หรือมีแค่ออฟฟิต หรือ โรงงาน ต้องพัฒนาให้เป็นสมาร์ทซิตี้ พร้อมแนะต้องนำวัฒนธรรมมาสร้างเป็นซอฟพาวเว่อร์  

 

พร้อมยืนยันว่า ประเทศไทยยังมีการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้แผ่วลงเหมือนที่มีการพูดกัน สะท้อนจากตัวเลขการลงทุนโดยตรง หรือ FDI จากบีโอไอ ล่าสุดอยู่ที่ 2.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการลงทุนของผู้ประกอบการรายเดิมเพื่อขยายกำลังการผลิตและมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ขณะเดียวกันก็มีผู้ประกอบการรายใหม่ๆ เข้ามาลงทุนเพิ่ม โดยเฉพาะค่ายรถยนต์ไฟฟ้า