“วงษ์สยาม”นัดเซ็นสัญญาโครงการบริหารท่อส่งน้ำอีอีซี 17 มิ.ย.65

06 มิ.ย. 2565 | 19:19 น.
อัปเดตล่าสุด :07 มิ.ย. 2565 | 02:31 น.

“วงษ์สยาม” ส่งหนังสือนัด “ธนารักษ์”ลงนามในสัญญาโครงการบริการท่อส่งน้ำอีอีซี 17 มิ.ย. จี้ส่งคำตอบภายในวันที่ 10มิ.ย.นี้-ลั่นเดินหน้าฟ้องทั้งอาญาและทางแพ่งถึงที่สุด

หลังจากที่บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัดได้ทำหนังสือลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 ถึงนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงการคลังในฐานะกำกับดูแลกรมธนารักษ์

 

 และวันที่ 30 พฤษภาคมได้ส่งหนังสือถึงกรมธนารักษ์เช่นกัน เพื่อขอสงวนสิทธิ์ในการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อหน่วยงานของรัฐ พนักงาน เจ้าหน้าที่ และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ทั้งทางอาญาและทางแพ่ง หากยังไม่มีความชัดเจนและล่าช้า ในการลงนามสัญญากับริษัทในฐานะผู้ชนะการประมูลโครงการบริหารท่อส่งน้ำอีอีซี

ล่าสุด เมื่อวัน ที่ 6 มิ.ย.2565 นายอนุฤทธิ์   เกิดสินธ์ชัย    กรรมการผู้จัดการ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จํากัดได้ทำหนังสือถึงกรมธนารักษ์อีกครั้ง   เพื่อขอนัดหมาย ลงนามสัญญาโครงการบริหารและดําเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก(อีอีซี) ภายในวันที่ 17 มิถุนายน 2565 ในฐานะได้รับสิทธิบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำอีอีซี

นายอนุฤทธิ์ระบุว่า กรมธนารักษ์ต้องเร่งดำเนินการลงนามโดยเร็ว  เนื่องจากกระบวนการเปิดประมูลโครงการบริหารท่อส่งน้ำอีอีซีเป็นไปอย่างถูกต้อง  หากประวิงเวลาในการปฎิบัติตามพันธะของรัฐที่มีต่อบริษัทย่อมก่อให้เกิดความเสียหายต่อบริษัทจนไม่อาจเยียวยาได้

 

ดังนั้น บริษัทจึงขอสงวนสิทธิ์ในการดำเนินคดีต่อหน่วยงานของรัฐ   พนักงาน  เจ้าหน้าที่ และบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งทางอาญาและทางแพ่งจนถึงที่สุด 

 

ทั้งนี้ บริษัทเป็นผู้ได้รับสิทธิ์บริหารและดำเนินการ กิจการท่อส่งน้ำอีอีซี  โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการที่ราชพัสดุเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2565 ประกอบกับศาลปกครองกลางยังมีคำสั่งยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวที่บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยาการน้ำภาคตะวันออก(อีสท์วอเตอร์) ร้องขอ รวม 2ครั้ง และมีคำสั่งไม่รับคำร้องอีก 1ครั้ง 

 

ดังนั้น เพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์ของรัฐจึงเป็นเหตุอันชอบธรรมตามกฎหมายที่กรมธนารักษ์ ต้องจัดการให้ลงนามในสัญญาดังกล่าว โดยจะต้องแจ้งให้บริษัททราบภายในวันที่  10 มิ.ย.2565

 

อย่างไรก็ตาม  บริษัทวงษ์สยามก่อสร้างได้มีหนังสือชี้แจงความเสียหายอัน เนื่องมาจากการทอดเวลาในการลงนามสัญญาซึ่งจะส่งผลให้กรมธนารักษ์ได้รับผลตอบแทนและส่วนแบ่งรายได้ ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย (ที่กรมธนารักษ์กําหนดไว้ เดือนละ 41,092,029.66 บาท โดยแบ่งเป็นค่าผลตอบแทน เดือนละ จํานวน 3,720,363 บาท ส่วนแบ่งรายได้เดือนละ จํานวน 37,371,666.66 บาท)