คลัง เร่งหาทางออกให้ “กองทุนน้ำมันฯ” กู้เสริมสภาพคล่อง

06 มิ.ย. 2565 | 19:05 น.
อัปเดตล่าสุด :07 มิ.ย. 2565 | 02:10 น.

“อาคม” เผยอยู่ระหว่างหารือสภาพัฒน์ หาทางออก “กองทุนน้ำมันฯ” กู้ 3 หมื่นล้านเสริมสภาพคล่อง ด้านเอกชน ไม่หวั่น ปล่อยดีเซล 35 บาทต่อลิตร ชี้ยังบริหารจัดการได้ เผยห่วงวัตถุดิบขาดแคลน มากกว่าของแพง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงความคืบหน้า การกู้เงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง และ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ถึงข้อติดขัดในการกู้เงินของกองทุนน้ำมันฯ วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท

 

ซึ่งอาจต้องส่งเรื่องให้สำนักงานกฤษฎีกาตีความ เนื่องจากสถานะของกองทุนน้ำมันฯ ไม่เป็นนิติบุคคล จึงไม่สามารถกู้เงินได้ ส่วนกรณีกองทุนน้ำมันฯ จะขอใช้งบกลางในการเสริมสภาพคล่องนั้น ตามกฎหมาย กองทุนฯสามารถขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลได้

“การจะใช้งบกลาง ขึ้นอยู่กับกองทุน ซึ่งกระทรวงพลังงานจะต้องเป็นผู้พิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร ต้องการงบกลางเข้าไปสนับสนุนหรือไม่ ซึ่งเพดานราคาน้ำมันดีเซลที่ขยับขึ้นไป เป็นไม่เกิน 35 บาทต่อลิตร ก็อยู่ที่การบริหารของกองทุน ว่าจะตรึงราคาได้นานแค่ไหน ขึ้นอยู่กับสภาพคล่องของกองทุนด้วย” นายอาคม กล่าว

นายอาคม กล่าวอีกว่า ขณะที่สถานะของกองทุนน้ำมันฯ ที่เสี่ยงติดลบถึง 1 แสนล้านบาทนั้น เป็นเรื่องของการบริหารจัดการของกองทุน เนื่องจากขณะนี้ กองทุนก็ยังมีเงินส่วนอื่นที่เก็บเข้ากองทุนอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันการขยับเพดานการตรึงราคาน้ำมันดีเซลจากไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร เป็นไม่เกิน 35 บาทต่อลิตรนั้น ก็จะต้องมาดูว่ากองทุนฯ จะมีการบริหารเงินอย่างไรในระหว่างที่ยังรอเงินกู้

 

ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากราคาน้ำมันดีเซลขยับขึ้นไปถึง 35 บาทต่อลิตร ยอมรับว่าจะมีผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน ในขณะที่ภาคเอกชนยังมองว่าเพดานที่ 35 บาทยังรับมือได้ เนื่องจากมีการปรับตัวอยู่ตลอด โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการโลจิสติกส์

 

อย่างไรก็ตาม มองว่าราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในไทยที่ 35 บาทต่อลิตรนั้น ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค ดังนั้นการตรึงราคาไว้ที่ 35 บาทก็เหมือนเป็นการไปฝืนราคาตลาดมากเกินไป

 

ขณะที่นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. กล่าวว่า ราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นนั้น เป็นการปรับขึ้นทั่วโลกไม่ใช่แค่ที่ไทย ดังนั้นการที่กองทุนน้ำมันฯ ต้องติดลบเกือบ 1 แสนล้านบาท ก็เพราะต้องช่วยตรึงราคาดีเซลไว้

 

อย่างไรตามเอกชนได้มีการเตรียมแผนรับมือกรณีน้ำมันมีการปรับขึ้นอยู่แล้ว ซึ่งการปรับขึ้นราคาทุก 1 บาท จะส่งผลกระทบต่อต้นทุน แต่สิ่งที่ภาคเอกชนกังวลที่สุด ไม่ใช่ราคาสินค้าแพง แต่คือการขาดแคลนวัตถุดิบ เนื่องจากขณะนี้ความต้องการสินค้าจากไทยในตลาดโลกยังมีสูง